ปกติแล้วเวลากู้ยืมเงินและผิดนัดชำระก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรหาเพราะความคิดถึง หรือส่งจดหมายรัก มาทวงถามสัญญาใจที่ว่ากันไว้เมื่อตอนปีกลาย สุดท้ายก็ต้องใช้ข้อกฎหมายเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่มีอยู่กลุ่มการเงินแห่งหนึ่งที่ไม่ต้องใช้กฎหมู่ กฏหมายแต่อย่างใด ใช้แค่กฎของการอยู่ร่วมกันเท่านั้นพอ และเชื่อไหม ตอนนี้มีเงินหมุนเกิน 4,000 ล้านกันไปแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าเป็นแบงก์ไหนหรือสถาบันการเงินไหนล่ะก็ตาม กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มาดูไปพร้อมๆกัน
วันนี้ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักพระอาจารย์มนัส แห่งวัดโพธิ์ทอง ต.แสลง อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี พระผู้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่ไม่ได้มาเพื่อ “ปราบผี” แต่มาเพื่อ “ปราบความจน” ให้คนจันทบุรีได้สำเร็จ จนเป็นต้นแบบไปทั่วประเทศแล้วในตอนนี้
ถ้าหากเราพูดถึงหลักพระพุทธศาสนา การเข้าไปทำบุญของญาติโยมในแต่ละครั้ง สิ่งที่พระจะได้รับฟังจากการสนธนาธรรม นอกจากความปิติ อิ่มเอมใจแล้ว ในบางครั้งอาจต้องคอยรับฟังปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น หรือคงช่วยได้บ้างในบางเรื่องที่ไม่เกินกิจของสงฆ์ และปัญหาปากท้อง ความยากจนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พระอาจารย์มนัส จึงเริ่มให้ความสนใจในเรื่องนี้ เริ่มจากการอ่านหนังสือของครูชบ ยอดแก้ว (จ.สงขลา) ที่เขียนหนังสือเรื่องการออม และได้เดินทางไปศึกษาดูงานแบบจริงจังกับอดีตพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่จังหวัดตราด ถึงกระบวนการทำงาน การบริหารจัดการระหว่างวัด ฆราวาสและชุมชน ได้เห็นภาพชาวบ้านที่มุ่งมั่นและตั้งใจในกลุ่มสัจจะ ทำให้วัดคึกคัก มีบรรยากาศการมาทำบุญ มีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน สร้างความปิติให้ผู้พบเห็น จึงกลายเป็นเหตุผลที่พระอาจารย์มนัสมีความตั้งใจที่จำนำแนวคิดของกลุ่มสัจจะ กลับมาเป้นต้นแบบในการพัฒนา “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี” นั่นเอง
จากเงินกองทุนที่ริเริ่มจากคน 108 คน เมื่อปี 2539 ได้เงิน 6,810 บาท เปิดให้หยิบยืมครั้งแรก มาบัดนี้ มี 4,000 ล้านบาท หมุนเวียนแก้หนี้ก้อนน้อยใหญ่ให้สมาชิก ซึ่งก็มีสมาชิกมาหยิบยืมต่อเนื่อง ตั้งแต่ หลักหมื่นกระทั่งหลักล้าน แล้วแต่วัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยความคาดหวัง 5 ด้านเมื่อแรกตั้ง คือ
1. ต้องการให้คนในชนบทได้ออมเงิน จะมาก จะน้อยก็ขอให้มีออม
2. เมื่อมีเงินออม เวลาเดือดร้อนก็สามารถยืมเงินจากกองกลางไปหมุนเวียนได้
3. ผลพลอยได้คือ กำไร ที่มีเงินคอยดูแลสมาชิก ตั้งแต่เกิด แก่ เจ้บ ตาย ทุกคนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น
4. คนในชุมชนมีความสามัคคีกัน ดูแลเอาใจใส่กันมากขึ้น
5. คนได้เข้าวัดมากขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
แน่นอนว่า สมาชิกเมื่อเข้า ‘กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์’ ทุกคนต้อง ‘กล่าวคำปฏิญาณตน’ ว่า ใครโกงเงินกลุ่ม ขอให้ “เป็นบ้า และถึงซึ่งความฉิบหาย…” ก็ว่าไปตามภาษาท้องถิ่น “ผิดสัจจะเมื่อไหร่ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ปกปักรักษา…” อีกประการสำคัญ คือ การประกาศ ‘ตัดสวัสดิการที่มีทั้งหมด’ เช่นใครก็ตาม ในบ้านแม้มี 5 คน เป็นสมาชิกทั้งหมด ผิดกฎไม่ใช้หนี้เพียงคนเดียว จะถูกตัดสวัสดิการทั้งบ้าน … นี่จึงทำให้ชาวบ้านทุกคนเกรงกลัว และอยู่ในกรอบของคุณงามความดีได้ การไม่ใช้กฏหมาย แต่ใช้กฏของการอยู่ร่วมกัน ทำให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อเงินที่นำออกจากกลุ่มไปใช้มากขึ้น โดยพระไม่ต้องเข้าไปมีส่วนในการทวงถามแต่อย่างใด
หลังการช่วยเหลือประชาชน สร้างความมั่นคงกับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ชาวจันทบุรีระดับหนึ่งแล้ว พระอาจารย์มนัส มีแนวคิดเพิ่มเติมที่จะขยายความช่วยเหลือไปยัง ‘พระสงฆ์’ ด้วยวัตถุประสงค์ช่วยพระทั่วประเทศ สร้างสวัสดิการที่คล้ายกัน เพื่อเป็นการดูแลอย่างทั่วถึงต่อไป