ซึ่งในยุคสมัยนี้ ต้องยอมรับว่า ผู้คนหันมาให้ความสนใจสุขภาพ และรูปลักษณ์ภายนอกกันมากขึ้น ทั้งเรื่องของผิวพรรณ รูปหน้า รูปร่าง รวมไปถึงการแต่งหน้าแต่งตัว สำหรับใครที่เริ่มหันมาสนใจดูแลตัวเองทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะเรื่องของรูปร่าง ต้องเคยได้ยินวิธี การทํา if มาบ้าง เพราะเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความสนใจ และถูกพูดถึงมากขึ้น
IF คือ การอดอาหาร จำกัดช่วงเวลาการกิน และควบคุมการรับประทานอาหารแบบง่าย ๆ เพื่อลดน้ำหนัก เผาผลาญไขมันส่วนเกิน โดย if ย่อมาจาก คำว่า Intermittent Fasting ซึ่งหากแปลแบบตรงตัว Intermittent แปลว่าการทำอะไรเป็นช่วง ๆ ส่วน Fasting คือ การอดอาหาร เมื่อเอา 2 คำนี้ มารวมกัน Intermittent Fasting คือ การอดอาหารในช่วงเวลาแต่ละวัน เพื่อเป้าหมายหลักคือ ลดน้ำหนัก และให้ร่างกายใช้ไขมันที่สะสมในร่างกายได้มากขึ้น แต่บางครั้งหากเราดูแลสุขภาพไม่ถูกต้องก็อาจนำโรคภัยมาสู่ตัวเราด้วย อย่างเช่นกรณีนี้
มีการเปิดเผยข้อมูลจากแพทย์ผู้ชำนาญจากศิริราชพยาบาล ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์หรือ X @manopsi ถึงเรื่องการทำ IF เพื่อลดน้ำหนัก ความว่า
ข่าวช็อกวงการ IF วันนี้ เมื่อAmerican Heart Association ออก press release การศึกษาพบว่าการทำ IF สูตรกิน 8 ชั่วโมง อด 16 ชั่วโมง เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91%
ศ.นพ.มานพ ยังเผยรายละเอียดไว้ดังนี้
1. การศึกษานี้เก็บข้อมูลจาก NHANES ซึ่งเป็น dataset ขนาดใหญ่และใช้กันมานาน ข้อมูลจาก dataset นี้ใช้ตอบคำถามวิจัยมากมายมายาวนาน ทีมเก็บข้อมูลและวิเคราะห์มีประสบการณ์และฝีมือดี
2. ข้อมูลนี้มีจุดด้อยคือเป็นการสำรวจวิธีการทำ IF 16:8 แบบ self assessment ด้วย questionnaire ของปีแรกที่เก็บข้อมูล ไม่สามารถยืนยันว่าทุกคนทำ IF 16:8 สูตรนี้สม่ำเสมอหรือไม่
3. จุดแข็งของการศึกษานี้คือ dataset ขนาดใหญ่เกือบ 2 หมื่นคน และตามข้อมูลนานเฉลี่ย 8 ปี และตามนานสุดถึง 17 ปี ในขณะที่ผลดีรายงานก่อนหน้านี้ล้วนเป็นผลระยะสั้น ไม่เคยมีข้อมูลยาวขนาดนี้
4. ข้อสังเกตอีกอันคืออายุเฉลี่ย 49 ปี (วัยกลางคน)
5. มีข้อมูลกลุ่มที่อดอาหารน้อยกว่านี้ด้วยคือมีระยะเวลากิน 8-10 ชม และมีโรคหัวใจร่วมด้วยพบว่าเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม 66% ด้วย ตรงกันข้ามในคนไข้มะเร็งการไม่ทำ IF อัตราตายก็น้อยกว่า สอดคล้องกับข้อมูลข้างต้นไปในทางเดียวกันหมด
6. ภาพรวมการทำ IF ไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
7. การศึกษานี้เป็นระบาดวิทยา พบว่ามันสัมพันธ์กันแบบนี้จริง แต่การจะหาคำอธิบายหรือกลไกก็ต้องศึกษาใหม่ เก็บข้อมูลและวิเคราะห์แบบอื่น
ดังนั้นโดยสรุป ขอให้ aware(การรับรู้) ในข้อมูล และระมัดระวังในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไปและมีโรคร่วม อย่าไปเหมาหมดว่า IF แย่ และอย่าไปอวยแบบเหมาเช่นกันว่าดีเลิศ พิจารณากันรายคน
X : @manopsi