อว.ผนึกภาคีเครือข่าย จัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง”

0
245
kinyupen

กระทรวง อว. ผนึกภาคีเครือข่ายจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมต่อยอดสู่การแก้ปัญหาคนเมืองในหลากมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาและเรียนรู้

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานเปิดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” กล่าวว่า  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ความสำคัญกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ กระทรวง อว.จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ อว. ไปใช้สนับสนุนการทำงานของ กทม. เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้เมืองประสบกับปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ภาวะความยากจน ภาวะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาวะความปลอดภัย ภาวะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ภาวะความเหลื่อมล้ำ ด้านการบริการสาธารณสุข และการป้องกัน

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

อย่างไรก็ดีการแก้ไขปัญหาในหลาย ๆมิติดังกล่าว จำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่งกระทรวง อว. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมาก เช่น Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับเรื่องและบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานช่วยแก้ปัญหา เช่น ปัญหาความสะอาด ไฟฟ้า ประปา ทางเท้า

สำหรับงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง อว. ได้นำผลงานนวัตกรรมจำนวนมากมาแสดง เช่น

1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ มีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 แบบเซ็นเซอร์ มีอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนโครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยขึ้น

2. ด้านสุขภาพ มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลเพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็วและสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดีขึ้น

3. ด้านสังคม มีแอปพลิเคชันบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ, มีต้นแบบเผยแพร่วัฒนธรรมไทย – จีนจากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุม 4. ด้านเศรษฐกิจ มีแอปพลิชันระบบบัญชีอัจฉริยะ, มีแพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบพุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ 5. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มสัมฤทธิผลทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นสำหรับการดำเนินงานต่อไป

สำหรับแผนงานที่อว. ร่วมกันดำเนินงานต่อไป ประกอบไปด้วย

1. เร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองนวัตกรรมในทุกมิติ โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน สำหรับสำหรับ กทม. ให้ให้ทำงานร่วมกับ Bangkok City Lab และส่วนงานอื่น ๆในการนำโจทย์ความต้องการมา  Match กับผลงานวิจัยของ อว. เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรงในวงกว้าง

2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบพัฒนาเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมมาส่งเสริมให้เกิดย่านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นมาส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ไปพร้อม ๆ กับการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย

3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตและแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน ฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง อาคารสูง และการจัดการภัยพิบัติ

รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ด้าน รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ในระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ว่า การพัฒนาเมืองในหลาย ๆ ด้านเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตในหลากหลายมิตินั้นจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยสนับสนุน อาทิ ข้อมูลที่ปัจจุบันที่ยังไม่มีการจัดเก็บหรือยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ดี ทำให้ขาดข้อมูลที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ไม่สามารถคาดการณ์อนาคต ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือ เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษา เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยพิบัติ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงเห็นความสำคัญและโอกาสที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมเชิงนโยบายและการสนับสนุนทุน ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ จึงได้เสนอให้มีการจัดงานตลาดนวัตกรรม 3 มุมเมืองขึ้น เพื่อแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) และหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเมืองและชุมชนท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. และกระทรวงมหาดไทย พร้อมหน่วยงานในสังกัด

เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการพบกับนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเพื่อเกิดการจับคู่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งเข้าถึงช่องทางการรับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้ผลงานนวัตกรรมสร้างโอกาสในการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและสังคมได้เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสามารถในการรับมือ ปรับตัว และฟื้นตัวจากวิกฤต ต่าง ๆ ได้

สำหรับงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ซึ่ง “3 มุมเมือง” มีนัย 3 ประการดังนี้

1. การสะท้อน “ประเด็นปัญหาที่สำคัญ” ของเมืองและชุมชนท้องถิ่น ได้แก่

• ด้านการศึกษาและการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนในอนาคต

• ด้านเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนเมือง

• ด้านระบบกายภาพของเมือง อาทิ การจัดการระบบคมนาคมและผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการความปลอดภัย และภัยพิบัติสำหรับชุมชนเมือง

2.  ครอบคลุม “กลุ่มเป้าหมาย” ได้แก่

• คณะผู้บริหารและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ (Key users) ของผลงานวิจัยและนวัตกรรม

• เด็ก เยาวชน และบุคลากรด้านการศึกษา ในฐานะพลเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต

• ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ในฐานะพลเมืองผู้อยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯ และเป็นภาคีหุ้นส่วนในการสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต

3. สื่อถึง “พื้นที่จัดงาน” โดยจัดแบ่งเป็น 3 โซนที่สำคัญ ได้แก่

• เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) พื้นที่บริเวณภายในหอศิลป์ฯ และบริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน ซึ่งมีบอร์ดนิทรรศการต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยเนื้องานเกี่ยวกับย่านสุขภาพ ย่านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ย่านการศึกษาและการเรียนรู้ ย่านเศรษฐกิจและชุมชน และย่านการจัดการเมืองและการมีส่วนร่วม

• เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) พื้นที่บริเวณภายหน้าหอศิลป์ฯ ประกอบไปด้วย CityLab Livabele and Smart City และการจำหน่ายหนังสืองานวิจัย

• เมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ได้แก่ พื้นที่บริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน จะมีการออกร้านสินค้าชุมชน งานหัตถกรรม สินค้าเกษตรงานหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรม

สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่   https://pmua.or.th และ facebook fanpage งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ บพท

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here