SME D Bank เผยดัชนีเชื่อมั่น Q4/66 ดีดตัวขานรับเทศกาลท่องเที่ยว

0
353
kinyupen

SME D Bank จับมือ ศศินทร์ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประจำไตรมาส 4/2566  และแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า ปรับดีขึ้นจากอานิสงส์เทศกาลท่องเที่ยว ภายใต้ความกังวลต้นทุนสูง  ขณะที่ 85% ชี้ “โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท” สร้างประโยชน์ต่อธุรกิจ  ประกาศพร้อมพาถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยพิเศษคงที่ คลายปมให้เอสเอ็มอีพร้อมเดินหน้าธุรกิจได้เต็มกำลัง

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า  “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” และ  “ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา” สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ประจำไตรมาส 4/2566 และคาดการณ์อนาคต จากจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 67.81 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2566 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับ 66.40 เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลลอยกระทง และเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับความคาดหวังต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล

ขณะที่ แนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 67.61 เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ที่อยู่ระดับ 66.79 เนื่องจากยังได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มเดินทางมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว อีกทั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ กิจการสามารถกลับมาเปิดบริการได้เต็มที่ รวมถึง มีความคาดหวังต่อมาตรการของรัฐบาลเพื่อผลักดันการเติบโตของภาคธุรกิจ

เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมในปัจจุบันเทียบกับ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคบริการมีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น อยู่ที่ระดับ 72.30 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เช่น ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง เป็นต้น 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในด้านที่สำคัญ พบว่า ผลประกอบการ สภาพคล่องของธุรกิจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่มีการลงทุน หรือจ้างงานเพิ่ม และมีความกังวลด้านต้นทุนเพิ่มเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ส่วนความคิดเห็นต่อ “โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 85% มองว่าธุรกิจจะได้รับประโยชน์  โดย 30% คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก มีเพียง 15% เท่านั้นที่คาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุปโภคและบริโภคโดยตรง และเมื่อเทียบกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในอดีต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มองว่า โครงการเงินดิจิทัลเป็นมาตรการที่สร้างผลดีต่อธุรกิจได้ดีเป็นอันดับ 2 รองจากโครงการเราชนะ เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่บนระบบใหม่ และมีเงื่อนไขซับซ้อนกว่าโครงการในอดีต จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาและการปรับตัว

นางสาวนารถนารี กล่าวสรุปว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจเพิ่มขึ้น จากแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง ส่งผลเกิดการจับจ่ายใช้สอยขยายตัว  ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนธุรกิจสูงที่เป็นความกังวลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสนับสนุนการลงทุนเพิ่ม SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย  ได้เตรียมบริการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ คงที่เริ่มต้น 2.99% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับบริการด้านงานพัฒนา จากโครงการ “SME D Coach”  ให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจโดยโค้ชมืออาชีพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คว้าโอกาสทองจากกำลังซื้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here