ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานธปท.พบสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถือว่า ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่า จะเติบโตได้เพียง 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจของจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังมีปัญหาเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการค้า
“การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก เพราะมีประเด็นผลกระทบข้างเคียงสูง ยกตัวอย่างเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด 911 มีการประเมินว่า จะกระทบการท่องเที่ยวอเมริกา คนไม่เชื่อมั่นลงทุน แต่กลายเป็นว่า นำไปสู่การบุกอิรัก ที่ส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย เช่นเดียวกับปัญหาอิสราเอลและฮามาส ขณะนี้จะยังประเมินผลกระทบไม่ถ้วนถึง อาจมีผลกระทบที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นก็ได้ ไม่ใช่แค่ตัวเลขการส่งออกไปอิสราเอล หรือแค่นักท่องเที่ยวอิสราเอลเท่านั้น”
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท.จะยังคงนโยบายการดูแลด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไอเอ็มเอฟได้ให้แนวทางไว้ 4 ข้อ ได้แก่ 1.คุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบให้ได้ 2.ต้องพยายามสร้างกันชนด้านการคลัง (Buffer) โดยคุมรายจ่าย และพยายามเพิ่มรายได้ เพื่อให้การขาดดุลมีน้อย เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 3.ดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน 4.ใส่ใจปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการปฏิรูปโครงสร้างให้ทันกับสถานการณ์โลก เช่น การพัฒนาด้านดิจิทัลทางการเงิน เป็นต้น
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทย โดยรวมถือว่า ดี แต่จะชะล่าใจไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วง ยังคงเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 90.7% ของจีดีพี แม้ว่าจะลดลงมาจากระดับสูงสุดที่เคยสูงถึง 94.6% แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับที่สูงเกินไป ธปท.ตั้งเป้าหมายที่จะลดลงให้มาอยู่ในระดับ 80% ของจีดีพี
ตัวเลขอีกด้านที่สะท้อนความผันผวนด้านเสถียรภาพ ซึ่งตลาดเริ่มมีปฏิกริยา ส่งสัญญาณน่ากังวล ก็คือ ตัวเลขการไหลออกของเงินทุนในปีนี้ที่ติดลบถึง 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการไหลออกทั้งจากตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ อีกทั้งยังเป็นทิศทางที่สวนทางกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และอินเดีย นอกจากนี้ ยังมีกรณีการอ่อนค่าของเงินบาท โดยเงินบาทมีการอ่อนค่าลงประมาณ 8-9% ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
“แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังถือว่าโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณความกังวล โดยเฉพาะจากสถาบันจัดอันดับเครดิตเรทติ้ง ไม่ว่าจะเป็นฟิทซ์ เรทติ้ง มูดี้ส์ และเอสแอนด์พี ที่ระบุว่า อาจมีการปรับโหมดตามสถานการณ์ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมยังดี ไม่มีปัญหา แต่เริ่มมีสัญญาณต่างชาติ ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับมุมมอง (Outlook) ได้”
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแผนของ ธปท. ในการลดหนี้ครัวเรือนให้อยู่ที่ 80% ต่อจีดีพีว่า ธปท.ได้ออกนโยบายที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ได้แก่
1.การกำหนดมาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และต้องคำนึงถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นตัวตั้ง โดยให้มีผล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
2.การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ซึ่งเป็นหนี้ที่จ่ายแต่ดอกเบี้ย ไม่เคยตัดต้นเงินเลย จึงไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยกลุ่มคนที่เป็นหนี้เรื้อรังมีค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การแก้หนี้เรื้อรังจะเริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน โดยให้ลูกหนี้ที่ต้องการปิดจบหนี้เข้ามาหาสถาบันการเงิน และหาวิธีที่จะปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี และให้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 15% ซึ่งมาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะเริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน 2567
3. เรื่องกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย Risk-Based Pricing (RBP) ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ว่ามีสินเชื่อที่กำหนดเพดานเอาไว้ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะปล่อยสินเชื่อตามเพดานที่กำหนด แต่การกำหนดเพดานดังกล่าว บางทีเป็นดาบ 2 คม คือ ทำให้มีลูกหนี้บางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
“ดังนั้น การทำเรื่อง risk-based pricing จะให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามความเสี่ยง และก็หวังว่ากลุ่มที่ได้อัตราดอกเบี้ยชนเพดาน จะได้ดอกเบี้ยลดลงด้วย” นายรณดลกล่าว