วิถีตัวตึง…มองอย่างไรในวันที่ฟ้าเปลี่ยนสี

0
570
kinyupen

ค่านิยมของคนในยุคปัจจุบัน คือ ใจเป็นใหญ่ อารมณ์เป็นหลัก เปิดก่อนได้เปรียบ อาจจะด้วยสภาวะแวดล้อม สังคมที่ทำให้ทุกคนเน้นกับวิถีและความเป็นอยู่ในปัจจุบันมากกว่าสิ่งที่จะตามมาในอนาคต วันก่อนพบข้อเขียนของครูผู้หนึ่งใน เฟซบุ๊ค ที่มีความน่าสนใจ นำเรื่องราวตอนหนึ่งจากการ์ตูนโดเรมอนที่นำโนบิตะวัย 55 ย้อนกลับมาพบโนบิตะในวัย 10 ขวบที่เป็นวันที่แสนเซ็งเพราะถูกเพื่อนรังแก ถูกพ่อแม่ดุ โดยโนบิตะในวัย 55 มองทุกอย่างด้วยความรู้สึกขอบคุณที่พ่อแม่ยังหนุ่มสาว แข็งแรง เพื่อนๆ ก็เช่นกันโดยเรื่องราวเจตนาของผู้บอกเล่าก็เพื่อให้วันนี้ใส่ใจกับผู้คนรอบข้าง

แต่สิ่งที่กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมองเห็นอีกมิติหนึ่ง ตามที่ครูท่านนั้นได้บอกเล่าว่าได้ให้เด็กนักเรียนมัธยมปลายเขียนเหมือนเป็นสมุดแห่งกาลเวลา ลากเส้นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต

ด้วยวิธีการนี้เอง ที่ทำให้ย้อนนึกถึง วัยรุ่นตัวตึง ตัวมัม ตัวมารดาทั้งหลายที่วันนี้อาจเพลิดเพลินกับการเป็น อินฟลูฯ สนุกกับแรงเชียร์ใน Social จนหลุดโฟกัสกับบทบาทสำคัญของช่วงวัยคือการเรียน เพื่อเตรียมพร้อมจะเติบโตและปูทางแห่งอนาคต

หลายคนที่มีอิทธิพลในกลุ่มแกงค์เพื่อน เป็นหัวโจกในซอย เป็นตัวตึงในโซเชียล ได้แรงเชียร์จากเฟมทวิตในวันนี้จนบางครั้งอาจทำในสิ่งที่ถูกมองว่า ไม่แคร์สังคม แต่ถ้าวันหน้าอีก 20 ปียังคงยึดติดกับบทบาทที่ตนเองมีอยู่ว่าดุจดั่งฉันนี้เป็นนิรันด์ เคยมอง หรือเคยลากเส้นในสมุดแห่งกาลเวลาดูบ้างหรือไม่ว่าจะเป็นเช่นไร อยู่ในบทไหนของละครแห่งชีวิต แน่นอนส่วนที่ประสบความสำเร็จมีที่ยืนก็ถมไป แต่อย่าลืมว่ากลุ่มที่ล้มเหลวมีมากเช่นกัน และสุดท้ายแทบจะถูกหลงลืมกันไปจากสังคมเลยทีเดียว เคยสำรองทางเดินตรงนี้ไว้บ้างหรือไม่

อย่างไรก็ตามวิธีคิดแบบนี้ ไม่มีใครถูก ผิด หากเกิดจากการมองต่างมุม ต่างช่วงวัยที่แต่ละกลุ่มก็จะมีฐานในการสนับสนุนความคิดของตนเองที่แตกต่างกัน ซึ่งการขัดแย้งทางความคิดถ้าอยู่บนเหตุและผลของการเรียกร้องที่เหมาะสม ก็มีข้อดี เพราะที่ผ่านมาความกล้าที่จะเห็นต่างก็ช่วยให้เกิดการสร้างวิวัฒนาการใหม่ในโลก ไม่ว่าจะเรื่องทฤษฎีโลกกลม หลอดไฟ เครื่องบิน แม้กระทั่งไอโฟน

แต่การเห็นต่างที่สุดโต่งยึดความเห็นคนในกลุ่มตนเองเป็นที่ตั้งมากเกินไปก็เหมือนผลไม้พิษที่สุดท้ายสังคมจะไม่ได้อะไรจากมันเลย แม้กระทั่งตัวผู้เรียกร้องเอง ซึ่งอาจต้องหาทางที่จะลากเส้นในสมุดกาลเวลาของตนเองเผื่อเป็นทางลงเอาไว้ด้วย เพราะบางทีชีวิตก็โหดร้ายเกินกว่าที่คิดไว้

เพราะความสนุกของชีวิตมนุษย์ คือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ท่องเที่ยว ได้เดินทาง ได้มีสังคม เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ บนสิทธิ เสรีภาพ ที่เรามี แต่บางครั้งการเรียนรู้เหล่านี้ ก็อาจมาในรูปแบบ หรือ ข้อจำกัดในสิ่งที่เราไม่ชอบ กินของที่ไม่อร่อย เรียนวิชาน่าเบื่อ กฎระเบียบจุกจิก ต้องทำงานกับกลุ่มคนที่ไม่อยากสุงสิงด้วย ดังนั้นควรเปิดรับในสิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนตัวแบบที่ร้ายแรงจนถึงชีวิต ก็อาจเป็นพื้นฐานที่ทำให้ปรับใช้ได้กับบทบาทใหม่ในสังคมที่ต้องเผชิญในอนาคต

ปัจจุบันกระแสแรงเชียร์บน Social ที่ช่วยสร้างตัวตึง อินฟลูฯ มากมาย ถ้าเปรียบเปรยแบบคนยุคก่อน อาจจะเทียบได้ว่าเป็นพลังอำนาจเสมือน “นิ้วเพชร” ของ นนทก ในรามเกียรติ์ ที่ผู้ใช้ต้องระวังและควรเรียนรู้ เพราะถ้าเอาอำนาจแรงเชียร์ไปกดดันสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองทำ และยิ่งเมื่อใดก็ตามที่คิดสุดโต่งของตนเองเป็นที่ตั้ง มันมักจะลงท้ายด้วยหายนะเสมอ ไม่ว่าตึงแค่ไหนก็พัง

เพราะสังคมมีผู้คนที่หลากหลายทางความคิด ไม่มีใครถูก 100% ผิด 100% ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ถ้าต้องการให้ผู้อื่นยอมรับข้อเรียกร้อง ก็ควรเปิดรับฟังความเห็น หรือ มุมมองคนที่เห็นต่างด้วยอย่ามองด้วยอคติ การหาทางออกบนทางสายกลางเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะวันนี้อาจมีแรง มีตัวตน มีสีสันได้ด้วยกระแส แต่วันหนึ่งถ้าตึงเกินไปก็อาจดับได้ด้วยกระแสเช่นกัน

แม้วันนี้อาจยังไม่ชัด แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่เหล่าตัวตึงมีวัยวุฒิเพิ่มขึ้น (อาจไม่ต้องรอถึงวัย 55 เหมือนกับโนบิตะในการ์ตูน) ได้กลับมาย้อนมองผ่านสมุดแห่งกาลเวลาที่ในวันนี้มีชื่อเรียกว่า Digital Footprint ก็อาจจะพบคำตอบที่ใจต้องการ ว่าในวันที่มุมมองและประสบการณ์ชีวิตเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ท้องฟ้าที่เป็นเสมือนอุดมการณ์ในวันนั้นจะยังคงเป็นสีแบบเดิมหรือไม่

Cr ภาพประกอบ: https://doraemon.fandom.com/

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here