ttb ชี้อานิสงส์นักเที่ยวจีนช่วยฟื้นศก.ไทย ห่วงดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบกลุ่มเปราะบาง

0
442
kinyupen

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องกระทบการค้าโลก  ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% จากการเปิดประเทศของจีนช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวเร็ว ประกอบกับการบริโภคในประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง ความเสี่ยงหลักในปีนี้เป็นการส่งออกสินค้าไทยมีโอกาสหดตัว และภาวะหนี้ครัวเรือนสูงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ อย่างไรก็ดี ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ไม่รุนแรงมากเท่าที่เคยคาดกันเอาไว้เมื่อปลายปี 2565 สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index) ของประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ระดับหดตัวในช่วงต้นปี 2566 และล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2566 นี้ขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 2.7 ในการประเมินรอบก่อน

นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นมา จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากจีนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าหลัก รวมทั้งเป็นนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคกลุ่มหลักของโลก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ช้าลง

จึงคาดว่าธนาคารกลางหลายแห่งจะยังคงอยู่ในช่วงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคบริการและตลาดแรงงานทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพยุงให้กำลังซื้อทั่วโลกมีความเข้มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง  สำหรับปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกที่มีระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ต้องเผชิญภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเสถียรภาพทางการคลังโดยรวม 

สำหรับประเทศไทยที่ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน  เบื้องต้น ttb analytics ได้ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 ขึ้นมาที่ 29.5 ล้านคนจาก 22.5 ล้านคน โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนและเอเชีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นค่อนข้างเร็ว สอดคล้องกับการฟื้นตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวและระดับการจ้างงานในตลาดแรงงานไทยที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะได้อานิสงส์การเปิดประเทศของจีนและเศรษฐกิจโลกที่กำลังปรับดีขึ้น แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยที่หดตัวมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงท้ายปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดสินค้าเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาลดลงรวดเร็ว  โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และเม็ดพลาสติก ทำให้ ttb analytics ประเมินตัวเลขการส่งออกสินค้าในปี 2566 จะหดตัวที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวและความผันผวนในภาคการเงินต่างประเทศ ทำให้ปี 2566 การตัดสินใจลงทุนและการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชนอาจมีแนวโน้มชะลอตัวออกไป ในขณะที่ราคานำเข้าพลังงานมีแนวโน้มลดลง 

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีกทั้งไทยมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านฐานเงินฝากที่มีคุณภาพและสินทรัพย์สภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง ด้านเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง  ขณะที่สัดส่วน NPL ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง และสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเติบโตค่อนข้างเร็ว เมื่อทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อพยุงระดับการบริโภคและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประกอบธุรกิจครัวเรือน อีกทั้ง มาตรการดูแลลูกหนี้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังทยอยหมดลงนับแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ลูกหนี้ที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือต่อไป

ดังนั้น ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ คือ 1) การมองหาตลาดส่งออกสินค้าที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางโลกที่ท้าทาย อาทิ กลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน ฯลฯ 2) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่กลุ่มครัวเรือนและดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบาง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพในหมวดสินค้าจำเป็น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า มาตรการช่วยผ่อนคลายต้นทุนของธุรกิจ SMEs และ 3) มาตรการทางการเงินและสินเชื่อจากภาคสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี เป็นต้น

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here