ยุคดิจิทัลทำให้ทุกอย่างรอบโลก กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องยาก ๆ ในอดีตอย่างเรื่องค่าเงิน ตลาดเงิน คริปโตฯ กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องทำความเข้าใจ
อย่างเช่น ณ ปัจจุบันค่าเงินบาทผันผวน 3 วันอ่อน 3 วันแข็ง แม้กระทั่งเรา ๆ ที่ชอบเที่ยวต่างประเทศ ยังต้องติดตามดู ไม่งั้นเสียท่า แลกซื้อเงินแพงกว่าคนอื่น
มีใครสงสัยมั้ยว่า ค่าเงินเดี๋ยวอ่อนเดี๋ยวแข็งเนี่ย มันเกิดจากอะไร?
ผู้เชี่ยวชาญตลาดเงินมีการตั้งสมญาว่า สถานการณ์ปัจจุบัน มันคือ สงครามค่าเงินรูปแบบใหม่ หรือ Currency War 3.0
มุงกันเลย จะอธิบายให้ฟัง..
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินผันผวนหนักอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีเกินคาด สะท้อนว่าการขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 4.75% ไม่สามารถชะลอเศรษฐกิจสหรัฐลงได้ จนนักลงทุนคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจำเป็นต่อจนถึงระดับ 5.50% ในเดือนมิถุนายนนี้
อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯ มองว่า เฟดไม่จำเป็นต้องกลับมาใช้ยาแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% เพื่อฉุดเงินเฟ้อลงเหมือนที่เคยทำเมื่อปีก่อน แต่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% และไม่น่าเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจน จนปรากฏคำใหม่ 3 คำ
no pivot – เฟดไม่พลิกกลับด้านมาลดดอกเบี้ย
no landing – เศรษฐกิจสหรัฐไม่ชะลอลงจอดนิ่มๆ แต่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
no dis-inflation – เงินเฟ้อไม่ลดลงเทียบเดือนต่อเดือนในระยะสั้น
ในภาวะที่สหรัฐยังเผชิญความท้าทาย จากเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ที่ขยายตัว และค่าจ้างแรงงานยังเพิ่มสูงจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว ทั้งหมดนี้ นักลงทุนยังสามารถหาจังหวะการลงทุนในภาวะเช่นนี้ได้ แต่สำหรับฝั่งตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญสงครามค่าเงิน version ใหม่ หรือ Currency War 3.0
ย้อนกลับไปปี 2019 ช่วงสหรัฐทำสงครามการค้ากับจีน ธนาคารกลางในภูมิภาคพยายามลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า หวังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก กลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรียกว่าหากลดดอกเบี้ยแรงกว่าเพื่อน ค่าเงินจะอ่อนกว่า สามารถขายของหรือส่งออกได้ดีกว่า เกิดเป็นสงครามค่าเงินรูปแบบแรก (Currency War 1.0)
แต่พอมาปี 2022 เกิดสงครามค่าเงินรูปแบบใหม่ (Currency War 2.0) ธนาคารกลางในภูมิภาคพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินให้ไม่อ่อนค่าแรงเทียบดอลลาร์สหรัฐ แม้การส่งออกทำได้ดี แต่ปัญหาอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินที่แข็งค่าจะช่วยลดราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อและประคองเศรษฐกิจในประเทศ
ปี 2023 กำลังจะเกิดสงครามค่าเงินอีกรูปแบบ (Currency War 3.0) เป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อปล่อยให้ค่าเงินในประเทศอ่อนค่า หวังเพิ่มความสามารถการแข่งขันการส่งออก ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ ขณะที่ราคาน้ำมันกำลังลดลงช่วยให้อัตราเงินเฟ้อฝั่งเอเชียย่อลง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
“สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 29 มีนาคมนี้ อีก 0.25% สู่ระดับ 1.75% แต่ก็มีลุ้นว่าอาจเสียงแตกให้ตรึงดอกเบี้ย จากการที่ภาคส่งออกหดตัวอาจฉุดเศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้า เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และในการประชุมเดือนพฤษภาคมอาจเห็นการตรึงดอกเบี้ย ปล่อยให้บาทอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสสอง ช่วงเงินเฟ้อขยับลง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” ดร.อมรเทพ กล่าว