อยากรู้กันไหมคะว่า ปีหน้าเทรนด์ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนแห้งเหี่ยว กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมาติดตามการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญไปพร้อมกันค่ะ
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลงถึง 10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2566 ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2566 มีโอกาสครึ่งปีแรกขยายตัว 3.4-3.6% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการส่งออกจะแผ่วลง โดยประเมินการส่งออกจะขยายตัวชะลอลง 1.2% จากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 8% โดย รอยต่อระหว่างไตรมาส 4/2565 และไตรมาส 1/2566 เศรษฐกิจไทยเคลื่อนตัววงแคบเพราะการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่การส่งออกย่อตัวลง
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 1-2/2566 การท่องเที่ยวที่เข้ามาสนับสนุน รวมถึงภาคการบริโภคจะเข้ามาเสริม อีกทั้งไทยเข้าสู่การเลือกตั้ง เชื่อว่ามาตรการรับปีใหม่ของรัฐจะสอดคล้องกับเศรษฐกิจ มองว่าปลายปี 2566 ขยายตัวได้ 3.7-4% เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเหรียญจากจีนจะเข้าไทยในช่วงนี้ ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการจึงมีสัญญาณที่ดีขึ้น
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจคือการแพร่ระบาดคลี่คลายลง รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้าไทยช่วงครึ่งหลังปี 2566 การส่งเสริมให้ไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งการเมือง และรวมถึงผลจากการประชุมเอเปค 2022 ที่ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ รวมถึงเสริมการค้า และการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติ
ส่วนปัจจัยบั่นทอนคือการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB , ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ภาระด้านต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น และทำให้ครัวเรือนใช้จ่ายน้อยลง , ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันและราคาวัตถุดิบผันผวน , ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมืองไทยที่ส่งผลต่อการทำนโยบายเศรษฐกิจ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า จากปัจจัยเหล่านี้ เมื่อนำมาจัดอันดับ ธุรกิจดาวรุ่ง และ ดาวร่วง ปี 2566 โดยธุรกิจที่เป็น ‘ดาวรุ่ง’ ประกอบด้วย
1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม
2.ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (ธุรกิจทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)
3.ธุรกิจด้านฟินเทค (fintech) การจัดงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า
4.ธุรกิจจัดทำคอนเทนท์ การรีวิวสินค้า อินฟูเอ็นเซอร์ ธุรกิจสื่อโฆษณาและสื่อออนไลน์
5.ธุรกิจแพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้านอิเล็กทรอนิกส์)
6.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต
7.ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ
8.ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ ธุรกิจโลจิสติกส์ (เดลิเวอร์รี)
9.ธุรกิจเกี่ยวกับอีสปอร์ต ธุรกิจอาหารเสริม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
10.ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจความเชื่อ (สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย) ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจเกี่ยวกัญชา ใบกระท่อม
ขณะเดียวกันธุรกิจที่เป็น ‘ดาวร่วง’ ประกอบด้วย
1.ธุรกิจฟอกย้อม ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร หนังสือพิมพ์รูปแบบกระดาษ
2.ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงาน ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์
3.ธุรกิจคนกลาง
4.ธุรกิจร้านขายหนังสือ
5.ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิก
6.ธุรกิจร้านถ่ายรูป ธุรกิจหัตถกรรม
7.ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
8.ธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี
9.โรงเรียนเอกชน
10.ธุรกิจร้านโชห่วย
ทั้งนี้ เทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพมาแรง รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทส่งผลให้ความสวยงามที่เข้ามาพร้อมกัน จากการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น เช่น การสร้างคอนเทนท์ทั้งใน เฟซบุ๊ค (Facebook) อินสตาร์แกรม (Instagrams) ติ๊กต๊อก (TikTok) ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้คนทุกเจเนอร์เรชั่นหันกลับมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น