โลกมืดในเฮติ

0
1137
kinyupen

ถ้าคิดว่าเมืองไทย (และการเมืองไทย) ห่วยที่สุดแล้ว ลองอ่านเรื่องนี้ดู จะรู้ว่าทุกข์ของคนไทยนั้นจิ๊บจ๊อยมาก

ทุกวันนี้ ผู้คนในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ต้องจำให้ขึ้นใจเลยว่าตนเองกำลังอยู่ใน “พื้นที่” เพราะการอยู่ผิดพื้นที่ หมายถึงอันตรายถึงขั้นชีวิต เนื่องจากแก๊งอาชญากรรมที่แข่งขันกัน กำลังแบ่งเมืองหลวงของเฮติแห่งนี้ออกเป็นเสี่ยง ๆ มีทั้งลักพาตัว ข่มขืนหญิง และสังหารผู้คนตามอำเภอใจ

พวกแก๊งใช้ “เลือด” เป็นตัวกำหนดพื้นที่อิทธิพล การข้ามจากพื้นที่ของแก๊งหนึ่งเข้าไปในอีกพื้นที่หนึ่งของอีกแก๊งหนึ่ง อาจไม่ได้กลับออกมาแบบมีลมหายใจอีกเลย

กรุงปอร์โตแปรงซ์ถูกแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ผู้คนที่นี่ต้องจดจำ “แผนที่” ดังว่าให้ขึ้นใจ

พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ที่ปลอดจากแก๊งอาชญากรรม

พื้นที่สีเหลือง หมายถึง อาจจะปลอดภัยในวันนี้ แต่อาจจะตายได้ในวันพรุ่งนี้

พื้นที่สีแดง หมายถึง พื้นที่ที่ห้ามเข้า

ถึงตอนนี้ พื้นที่สีเขียวกำลังหดหายไป เพราะแก๊งติดอาวุธต่าง ๆ เริ่มขยายอำนาจมากขึ้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนของเฮติระบุว่า กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ควบคุมพื้นที่และก่อเหตุร้ายอย่างน้อย 60% ของกรุงปอร์โตแปรงซ์ และพื้นที่โดยรอบ มันล้อมเมืองหลวง ควบคุมถนนสายต่าง ๆ ทั้งขาเข้าและขาออก สหประชาชาติ ระบุว่า มีชาวบ้านถูกพวกแก๊งก่อการร้ายสังหารไปแล้วเกือบ 1,000 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ปีนี้

กรุงปอร์โตแปรงซ์ตั้งอยู่ระหว่างเนินเขาเขียวขจีกับทะเลแคริบเบียนแสนสวย แต่ตอนนี้เป็นเมืองหลวงที่ไร้คนเหลียวแล

เฮติไม่มีรัฐบาล เพราะผู้นำถูกลอบสังหารเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว มือปืนเข้าโจมตีและสังหารประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ในบ้านพักของเขาเอง การสังหารผู้นำทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ บรรดาแก๊งต่าง ๆ แข่งขันชิงอำนาจ พวกนี้มีแบ๊คจากเพื่อนของอดีตประธานาธิบดีที่ต้องการคว่ำเขา นักธุรกิจที่ร่ำรวยหลายคนก็มีสายสัมพันธ์กับพวกแก๊งเหล่านี้ด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรีอาเรียล อองรี ผู้นำคนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ชาวบ้านชังน้ำหน้าอย่างแรง แต่เป็นรัฐบาลที่สหรัฐฯ หนุนหลัง

นอกจากหายนะทางการเมือง เฮติยังประสบภัยพิบัติรุนแรง เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองพันคน และสถานการณ์ยิ่งเลวลงเมื่อแก๊งก่อการร้ายคุมเมืองหลวง แก๊งติดอาวุธปิดกั้นคลังน้ำหลัก การขนส่งเชื้อเพลิงและข้าวของจำเป็นกลายเป็นความลำบาก ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตำรวจเฮติบุกคลังน้ำมัน เพื่อชิงเชื้อเพลิงกลับคืนมา แต่ใครจะรู้ว่าตำรวจจะรักษาคลังน้ำมันไว้ได้นานแค่ไหน

เวลานี้ ประชากรกว่า 4 ล้านคน กำลังเผชิญกับความอดอยากรุนแรง ขยะกองพะเนินถึงระดับเข่า และอหิวาตกโรคกลับมาระบาดอีกครั้ง

ทุกวันนี้ พวกแก๊งเป็นคนกำหนดเวลา คือ ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าระหว่าง 06.00-09.00 น. เป็นช่วงที่เกิดการลักพาตัวมากที่สุด หลายคนถูกชิงตัวไปจากท้องถนนขณะเดินทางไปทำงาน หลายคนถูกจู่โจมในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเย็นตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น.

การลักพาตัวเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด สหประชาชาติระบุว่า มีการแจ้งเหตุลักพาตัวกว่าพันราย ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม ที่ผ่านมา นี่คือที่มาของรายได้หลักของพวกแก๊ง ค่าไถ่อยู่ระหว่าง 200 ดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท) ถ้ามีการจ่ายค่าไถ่ เหยื่อส่วนใหญ่รอดชีวิตกลับมา แต่พวกเขาก็ต้องเจอกับการทรมานก่อนค่าไถ่จะมาถึง และถ้าเป็นผู้หญิง หรือเด็กหญิง เหยื่อจะถูกรุมโทรม ก่อนจะแจ้งค่าไถ่ บ่อยครั้งที่พวกแก๊งจงใจข่มขืนเหยื่อ ขณะโทรศัพท์เรียกค่าไถ่เพื่อให้ญาติได้ยิน

พวกแก๊งใช้การข่มขืนเป็นอาวุธเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พวกมันพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงและเด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ฝ่ายอริควบคุมอยู่ โดยเฉพาะในช่วงพีคของสงครามแย่งชิงพื้นที่ (กรกฎาคมปีนี้) ในย่านซิตี โซเลล์ ซึ่งเป็นเขตที่ยากจนที่สุดของเฮติ มีคนถูกฆาตกรรมมากกว่า 300 คน ส่วนใหญ่ศพไหม้เกรียมเป็นตอตะโก ผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างน้อย 50 คน ถูกรุมข่มขืน

ในเฮติ พวกแก๊งต่าง ๆ ทำงานแทนรัฐ นายกรัฐมนตรีอาเรียล อองรี ไม่สามารถแม้แต่จะไปสำนักงานของตัวเองได้ เพราะกลุ่มติดอาวุธควบคุมพื้นที่นั้นอยู่

เฮติเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และบัดนี้เผชิญกับหายนะทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุด

ความงดงามของทิวเขาและทะเลคาริบเบียน ไม่อาจเยียวยาผู้คนที่ตกอยู่ในห้วงความเจ็บปวดนี้ได้

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/international-63858902

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here