รวย กับมั่งคั่ง  … เลือกอันไหน ? อธิษฐานผิด คิดใหม่ คิดถูก ชีวิตเปลี่ยน

0
823
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศา แห่งการใช้ชีวิตเชื่อเหลือเกินว่าทุกวันนี้ในใจเรา ที่ขอนอกจากสุขภาพที่ดีและแข็งแรงแล้ว คือ “ขอให้รวย” ด้วยเพราะ เงิน คือประตู แห่งการเข้าถึง ทั้ง การกิน การอยู่ และการรักษาพยาบาล แบบที่เราปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคข้าวยาก  ค่าไฟแพง สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่รู้จะมาถึงตัวเมื่อไร  หากย้อนกลับไปก็คงจำกันได้ว่า ตอนภัยน้ำท่วมกรุง สิ่งที่คิดคือจะอพยพไปที่ไหน  และจะต้องใช้เงินระหว่างนั้นเท่าไร ทั้งค่าเช่า ค่าเดินทาง

หากที่สะกิดใจก็ด้วยบทความในคอลัมน์ Wealth Corner ของกรุงเทพธุรกิจโดย ดร.ศุภกร สุนทรกิจ ที่ขึ้นหัวว่า รวยกับมั่งคั่งเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ในบทความกล่าวว่า โรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือพ่อรวยสอนลงทุนได้เขียนไว้ว่า หลายคนมักจะคิดว่า ความรวยกับความมั่งคั่ง คือ สิ่งเดียวกัน แต่ ความจริงมันมีข้อปลีกย่อยที่ต่างกัน และเป็นข้อที่สำคัญ​  เพราะความรวย วัดกันที่ “จำนวนเงิน” ฉันอยากมี 30 ล้าน  อยากมี 100 ล้าน นี่คือความรวยละเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า ผู้มั่งคั่ง แต่ จะมั่งคั่งจริงหรือไม่วัดกันที่จะถือครองเงินนั้น เลี้ยงชีวิตได้ยาวนานแค่ไหน นั่นหมายถึงการจะเป็นผู้มั่งคั่งคือ ต้องมีวิธีบริหารจัดการเงินที่ดี

สมมุติแบบเห็นภาพ สามล้อถูกหวย 30 ล้าน วันแรกที่รับเงินหวยกลายเป็นคนรวยทันที แต่ถ้า สามล้อใช้เงินหมดใน 3 ปี ระยะเวลาแห่งความเป็นคนมั่งคั่ง อยู่ที่ 3 ปี หรือ กรณีวิจารณ์ พลฤทธิ์  ที่ได้เงินจากการชกมวยโอลิมปิก ก็เอาเงินไปลงทุนเปิดร้านขายผ้าไหม  ทำธุรกิจส่วนตัว และรับราชการ ปัจจุบันก็ยังมีทรัพย์สินเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบายมาตลอด 22 ปี  แบบนี้เรียกว่า ผู้มั่งคั่ง   

สรุปง่าย ๆ ทั้งสามล้อ และ วิจารณ์เริ่มต้นเป็นคนรวยทั้งคู่ แต่การจัดการทรัพย์สินให้อยู่เลี้ยงดูเรายาวนานคือ ผู้มั่งคั่ง โดยโรเบิร์ต คิโยซากิกล่าวให้เข้าใจง่ายว่า ความรวย วัดที่ตัวเงิน แต่มั่งคั่งวัดที่เวลา 

อัตราส่วนที่ใช้วัดความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) คือ เอารายได้จากสินทรัพย์ที่เรามีและไปลงทุนหารด้วยรายจ่าย  ถ้ามากกว่า 1 เท่าของรายจ่าย ก็หมายความว่าสบายใจได้ไปเปลาะหนึ่ง แต่ถ้าไม่ถึง หรือใกล้ถึงก็อาจจะหายใจโล่งได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่นรายได้จากเงิน 30 ล้านไปลงทุนได้เดือนละ 100,000 บาท หากค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท นั่นคือรอด

อย่างไรก็ตามมีอีกสูตรหนึ่งจากหนังสือ The Millionaire Next Door ที่ให้ตัวอย่างประมาณว่า หากเราตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี ที่ ณ ตอนนั้นมีรายได้อยู่ทีปีละ 1,200,000  บาท (เดือนละ 1 แสนบาท) เราควรจะมีเงินเก็บ ที่ 14,400,000 บาท ซึ่งใช้หลักการตามสูตร Wealth Formula( มาจาก 60 x 1,200,000 / 10 = 7,200,000 X2 ) และถอนใช้ประมาณ 4 % ก็หมายความว่าจะสามารถมีเงินใช้ต่อเดือนที่ ไม่ตึงมากเกินไป คือ 48,000 บาท แต่ทั้งนี้ในความหมายว่า เงินเก็บที่ เรามีจะต้องไปลงทุน บริหารจัดการดี ๆ ให้มีอัตราผลตอบแทนที่ 7% ต่อปี   โดยผู้ที่สูงวัยส่วนใหญ่ที่ต้องระวังคือ การลงทุนที่มีความเสี่ยง ควรเว้นการลงทุนประเภทนอกตลาดทุน เพราะโอกาสสูญง่ายกว่าลงทุนในตลาดทุนฯ 

เพราะฉะนั้นวันนี้ เราคงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ทุกครั้งที่อธิษฐาน อาจต้องเปลี่ยนจากขอให้รวย เป็น ขอให้มั่งคั่ง มั่นคง และเมื่อรับเงินเดือน สิ่งที่ต้องคิดคือออมเงิน ลงทุน และบริหารจัดการ ออมเงินอย่างสม่ำเสมอ มีทุนมากขึ้นลงทุนสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างแท้จริง

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here