โยคะ…ที่มาทำไมขัดกับหลักศาสนา?

0
1028
kinyupen

เมื่อต้นเดือนหากใครเห็นข่าวใน BBC  ที่พาดหัวประเด็น ผู้แทนโบสถ์ของคริสตจักรในกรีกแนะนำให้ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ เลี่ยงการเล่นโยคะทั้งนี้การออกมาของผู้แทนโบสถ์แห่งคริสต์จักรของกรีกอาจเป็นเพราะ 90% ของชาวกรีกนับถือนิกายออร์ทอดอกซ์​  โดยการให้เลี่ยงดังกล่าวคาดเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าพื้นฐานของโยคะหลายท่าไม่เหมาะกับความเชื่อและความศรัทธาของชาวคริสต์อย่างเช่นท่าสุนัขก้ม (downward dog) หรือท่าไหว้พระอาทิตย์ อีกทั้งโยคะถือเป็นการปฏิบัติส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมาก็เป็นวันโยคะสากล

 

 

กิน- อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงชวนไปย้อนดูที่มาและหลักการของโยคะเพื่อเป็นเกร็ดความรู้ถึงที่มาที่ไปของประเด็นดังกล่าว  โยคะมาจากศัพท์ของคำว่า “ยุชิร” หรือ “ยุช” ซึ่งแปลว่า เทียมแอก ผูกมัด ประกอบ หรือรวมกัน ตามความหมายของศัพท์ โยคะจึงหมายถึงการเพ่งเล็งหรือการทำสมาธิเพื่อให้จิตสู่ความหลุดพ้น ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอินเดียสมัยโบราณกว่าหลาย 1,000 ปี โยคะมีอยู่ด้วยกันหลายสำนักซึ่งวิธีและเป้าหมายจะต่างกันไปโดยบรรดาฤาษีหรือโยคีต่างฝึกเพราะเชื่อว่าคนเราจะมีจิตใจที่แข็งแรงและสมบูรณ์จะต้องร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงเป็นพื้นฐาน

 

หากจุดเริ่มต้นเกิดจาก 2,500 ปีที่แล้วปัตญชลี มหาโยคีชาวฮินดูผู้มีประสบการณ์ในเรื่องสมาธิได้ปรับปรุงโยคะขั้นพื้นฐาน และเขียนโศลกที่ถือเป็นพระสูตรแห่งโยคะ เรียกว่า โยคะสุตรา จึงส่งผลให้โยคะเป็นที่แพร่ หลาย

 

timesofindia.indiatimes.com

 

ผู้ที่ปฏิบัติโยคะที่เป็นผู้ชายจะถูกเรียกว่า โยคิน หรือ โยคี ส่วนผู้หญิงเรียก โยคินี ผู้สอนเรียกว่า คุรุ (ครู) เมื่อโยคะแพร่หลายสู่ยุโรปโดยใช้เป็นหนึ่งในวิธีออกกำลังกายนั้นส่วนใหญ่จะดัดแปลงจากหฐะ โยคะ (Hatha Yoga) ซึ่งเน้นการหายใจและความยืดหยุ่นของร่างกาย โดยการฝึกท่าโยคะจะเรียกว่าอาสนะ (Asanas)

ที่หมายถึงการอาศัยหรือนั่งในท่าใดท่าหนึ่ง

 

ด้วยที่มาของโยคะที่เชื่อมโยงกับศาสนาฮินดู ที่กำหนดว่าพราหมณ์จะบำเพ็ญตบะด้วยการปฏิบัติโยคะ และท่าโยคะ ที่เชื่อมโยงกับการนับถือธรรมชาติและมีเทพเป็นสัญญะ อย่างเช่นโยคะในอาสนะของสุริยะนมัสการ ซึ่งก็เป็นท่าไหว้พระอาทิตย์ หรือบางอาสนะจะเหมือนกับท่าก้มกราบ ซึ่งขัดกับบางหลักศาสนาที่กราบได้เพียงพระเจ้าของศาสนานั้นๆ เท่านั้น ทั้งมีการเปล่งเสียงโอม ที่มาจากการขานพระนาม 3 มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ (อุ:พระวิษณุ อะ:พระศิวะ และมะ:พระพรหม)  โยคะบางอาสนะ หรือการโอมจึงอาจเป็นอุปสรรค

 

 

อย่างไรก็ตามการฝึกโยคะจะเน้นความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังทำให้เลือด และสารอาหารไปเลี้ยงประสาทไขสันหลังเพิ่ม การฝึกโยคะจะทำให้การทำงานของต่อมต่างๆ รวมทั้งต่อมไร้ท่อทำงานดีขึ้น ท่าของการฝึกโยคะเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และสอดคล้องกับการหายใจเป็นการรวมกาย และจิตร่วมกัน การฝึกท่าโยคะจะเป็นการฝึกประสาท ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง การทรงตัว ลดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้สุขภาพจิต และสุขภาพกายดีขึ้น

 

แต่ก็ยังมีวิธีออกกำลังหรือการยืดหยุ่นหลายอย่างให้เราเลือกตามความเชื่อ ความชอบ ได้แบบไม่จำกัด กิน-อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตขอ Cheer Up ให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง

 

 

kinyupen