เกร็ดสงกรานต์ 4 ภาค

0
723
kinyupen

สงกรานต์ มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือ การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ และด้วยการที่เป็นประเพณีสืบทอดมาแต่โบราณคู่กับตรุษจึงนิยมเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั่นเอง

 

นอกจากไทยแล้ว สงกรานต์ยังเป็นประเพณีเก่าแก่ของลาว กัมพูชา เมียนมา รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย โดยสันนิษฐานว่ามาจากเทศกาลโฮลี หรือ การสาดสีในประเทศอินเดียแต่เปลี่ยนจากการใช้สีมาเป็นน้ำ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใดแต่ก็ได้ถือเอาวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์

 

ทั้งนี้ เสถียรโกเศศ สันนิษฐานว่า ประเทศไทยรับประเพณีวันขึ้นปีใหม่ 13 เมษายน มาจากอินเดียฝ่ายเหนือ โดยช่วงเวลานี้จะตรงกับการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ หรือ วสันตฤดูของอินเดีย ที่ถือเป็นช่วงเวลาดีที่สุดตามความเชื่อของอินเดียเพราะเป็นช่วงอากาศไม่หนาวจัดต้นไม้ผลิใบให้ความสดชื่น อันบังเอิญว่าช่วงเวลานี้ก็ตรงกับช่วงที่คนไทยสมัยโบราณว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะที่จะฉลองปีใหม่ช่วงดังกล่าว สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในสองเทศกาลที่คนไทยนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนากันเป็นจำนวนมาก ไม่แพ้เทศกาลปีใหม่ และประเพณีสงกรานต์ของแต่ละภาคในบ้านเรา ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์ของตน

 

สงกรานต์ภาคกลาง

  • วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์
  • วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา”
  • วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก

ทั้ง 3 วันชาวบ้านจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

 

สงกรานต์ภาคเหนือ หรือ สงกรานต์ล้านนา

เรียกภาษาถิ่นว่า “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” ช่วงของเทศกาลเริ่มตั้งแต่

  • 13 เมษายน : “วันสังขารล่อง” ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
  • 14 เมษายน : “วันเนา” หรือ “วันเน่า” ชาวบ้านถือเป็นวันที่ห้ามด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายตลอดทั้งปี
  • 15 เมษายน : “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าเพื่อบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย
  • 16 เมษายน : “วันปากปี” ชาวบ้านจะไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ เพื่อขอขมาคารวะ
  • 17 เมษายน : “วันปากเดือน” ถือเป็นวันส่งเคราะห์ต่างๆ ออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา
  • 18 เมษายน : “วันปากวัน”

 

สงกรานต์ภาคอีสาน

นิยมจัดเรียบง่ายเน้นความอบอุ่นในครอบครัว คนอีสานจะเรียกว่าประเพณีนี้ ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ “ตรุษสงกรานต์” บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา” โดยถือฤกษ์วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน ซึ่งพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช

จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันจัดเตรียมน้ำอบ หาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป ก่อนรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่เพื่อขอขมาลาโทษ จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์เฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน

 

สงกรานต์ภาคใต้

ตามความเชื่อดั้งเดิมของภาคใต้ สงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง ชาวใต้จึงถือเอาวันที่ 13 เมษายน เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” ทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป

จากนั้น 14 เมษายน จะเรียกว่า “วันว่าง” ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดและสรงน้ำพระพุทธรูป และเมื่อเข้าสู่วันที่ 15 เมษายน จะเป็น “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ซึ่งจะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

 

 

สงกรานต์กับปีใหม่ไทย

ในอดีต “วันสงกรานต์” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงเมื่อ พ.ศ.2483 ทางราชการ จึงได้กำหนดเอาวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่แทน เพื่อให้เข้ากับหลักสากลของนานาประเทศที่นิยมปฏิบัติ หากประชาชนก็ยังยึดถือว่าวันสงกรานต์มีความสำคัญ และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามหลักประเพณีไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

kinyupen