แม้จะอยู่ในช่วงลำบากกับการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด19 แต่ก็มีข่าวดีสำหรับผู้ใช้น้ำมันเมื่อ ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง เพราะตลาดน้ำมันเองก็ได้ผลกระทบจากมาตรการการต่อสู้เชื้อโรคของแต่ละประเทศทั่วโลกเช่นกัน
ผลกระทบจากโรคระบาด ได้เริ่มสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการค้าน้ำมัน กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตาหลังจากที่เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 กลุ่มประเทศโอเปกกับประเทศนอกกลุ่มโอเปกได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม มีเป้าหมายเพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการน้ำมันของโลกลดลงอย่างมาก โดยซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มโอเปกได้เสนอให้ประเทศสมาชิกและประเทศนอกกลุ่มโอเปก ที่นำโดยรัสเซีย ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ปรับลดมาแล้ว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงก่อนหน้า
แต่ในการประชุมกลับไม่ประสบความสำเร็จเหมือนหลายฝ่ายคาดหวัง เมื่อรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจอย่างมากและประกาศทำสงครามราคาน้ำมัน โดยซาอุดีอาระเบียจะปรับลดราคาขายน้ำมันดิบให้กับลูกค้าทั่ว โลกลง 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตของตัวเองจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ขึ้นเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวันอีก และจนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเจรจาเพิ่มเติม ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องและยังถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันตกต่ำที่สุดในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ขณะที่ ดร.มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดต่างๆ ของโลกร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นการดิ่งลงอย่างเป็นประวัติการณ์เมื่อคืนนี้ โดยภายในวันเดียวราคาน้ำมันดิบร่วงลงถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักวิเคราะห์ไม่คิดว่าราคาจะลงเร็วแบบนี้ ตลาดพยายามจะหาว่าจุดต่ำสุดอยู่ที่ไหน แต่ตอนถึงวันนี้ยังหาไม่เจอว่าราคาน้ำมันดิบจะไปถึงจุดต่ำสุดที่เท่าไหร่ โดยสรุปก็คือราคาน้ำมันในตอนนี้จะอยู่ที่ 20 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าเป็นการลงสู่ระดับต่ำสุด ในรอบ 18 ปี และต่ำสุดในประวัติการณ์ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1983 หรือในปี พ.ศ.2526
ดร.มนูญ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุการที่คนหยุดกิจกรรมต่างๆ ตลอด จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะล่มสลาย ทั้งนี้มีการประเมินว่า ในเดือนมีนาคมนี้ โลกจะมีความต้องการใช้น้ำมันลดลง 8-9 ล้านบาร์เรล หรืออาจจะลดลงถึง 10 ล้าน บาร์เรลทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะกดดันนี้ ล่าสุดรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการน้ำมันของประเทศอิรัก ได้เสนอให้มีการจัดประชุมวาระฉุกเฉินของประเทศกลุ่มโอเปกพลัส เพื่อพิจารณามาตรการเร่งด่วนในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด แต่ก็ยังไม่มีใครตอบรับ ขณะที่รัสเซียก็ระบุว่าอยากจะเห็นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เห็นว่าเริ่มจะมีเสียงเห็นด้วยมาจากรัสเซีย แต่รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียกลับยังเสียงแข็งและไม่ได้แสดงการตอบรับข้อเสนอของอิรักในการประชุมร่วมกัน และยังให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย คือ บริษัทซาอุดิ อารามโก ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อไป โดยจะผลิตให้ได้ถึง 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายนและเดือนต่อๆ โดยขณะนี้ซาอุดีอาระเบีย ผลิตน้ำมันอยู่ที่ประมาณ สิบล้านบาร์เรลต่อวันและส่งออกอยู่ประมาณ 8-9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
“ดังนั้นจึงเชื่อว่าสถานการณ์ทั้งหมดจะยังเป็นประเด็นที่กดดันตลาดต่อไปตราบใดที่ยังไม่มีการเจรจากัน ราคาน้ำมันน่าจะลงต่อไป ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ตลาดสิงคโปร์ก็ปรับตัวลง ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการปรับลงอีกเป็นครั้งที่ 7 รวมราคาลงไปแล้ว 4.20 บาท และยังคาดว่าจะปรับตัวลดลงอีก ดังนั้นผู้ใช้น้ำมันอาจจะยังไม่ต้องเติมน้ำมันเยอะ เติมหนึ่งสี่ของถังถึงเรื่อยๆ ก่อนเพื่อให้ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่กำลังลดราคาลงในขณะนี้” ดร.มนูญกล่าว