หากพูดถึงภัยแล้งแล้วนั้นถือได้ว่าเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนานแต่ปีนี้ด้วยสภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่ผันผวนกว่าในอดีตทำให้ปีนี้ภัยแล้งมีท่าทีขยายวงกว้างและยืดเยื้อยาวนาน จนอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าในอดีตที่เคยประสบมา
แม้กรมชลประทานออกมายืนยันว่าปีนี้ประชาชนจะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ก็อดหวั่นใจไม่ได้จากสัญญาณขาดแคลนน้ำที่เริ่มปรากฏตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาทั้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เริ่มแห้งขอด แม่น้ำโขงลดต่ำสุดในรอบ 50 ปีจนเห็นสันดอนทราย ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศก็น้อยกว่าปีก่อนอยู่ประมาณ 12%
เหตุเพราะแหล่งน้ำสำคัญของไทยที่มีเพียงแหล่งเดียว คือ “น้ำฝน” เกิดทิ้งช่วงนาน ขณะที่เขื่อนกั้นลำแม่น้ำโขงตั้งแต่จีนลงมาจนถึงลาวปล่อยน้ำลงมาสู่ปลายลำน้ำน้อยลง นอกจากนี้บางช่วงน้ำทะเลหนุนสูงก็ทำให้น้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคมีปัญหาน้ำเค็มตามมา ขณะที่การอุปโภค – บริโภคของภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น
แม้ขณะนี้ภาครัฐกำลังระดมมาตรการและมองหานโยบายแก้ภัยแล้งในปีนี้อย่างเร่งด่วน หากในความเป็นจริงนั้น การแก้ปัญหาภัยแล้งจะผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่ได้ แต่ต้องแก้แบบบูรณาการที่องค์รวมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ทั้งระดับนโยบายเชิงมหภาคต้องวางสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การพัฒนาแหล่งน้ำและเชื่อมโยงแหล่งกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสมทั่วถึง ขณะที่เครือข่ายระดับชุมชนต้องรู้จักวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสม ส่วนระดับบุคคลก็ต้องช่วยกันประหยัดใช้น้ำอย่างรู้ค่า ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่เคยสัมฤทธิ์ผลเชิงประจักษ์มาแล้วมากมายมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ
หลักการสำคัญมีอยู่ว่า พื้นที่ต้นน้ำต้องอนุรักษ์ฟื้นฟู พื้นที่กลางน้ำต้องจัดการกักเก็บน้ำและพื้นที่ปลายน้ำต้องบำบัดป้องกันโดยดำเนินการมุ่งทำทั้งกระบวนที่เกี่ยวเนื่องทั้งดิน น้ำ ป่า คนที่ต้องสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว สำหรับระดับบุคคลเช่นพวกเราทุกคนนั้นพระองค์ทรงพระราชทานแนวคิดไว้ว่า
“หน่วยเล็กๆ อย่างเราก็สามารถรักษาน้ำได้ การรักษาน้ำนั้นทำได้ไม่ยาก นั่นคือ เราควรคิดอยู่เสมอว่า สภาวการณ์ของน้ำตอนนี้อยู่ในภาวะที่กำลังจะขาดแคลน น้ำจึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด เราต้องใช้อย่างรู้คุณค่าและประหยัดให้มาก รู้จักการหมุนเวียนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ เช่น น้ำที่เหลือจากการซักล้าง ก็สามารถนำมารดน้ำต้นไม้ได้อีก นอกจากจะเป็นการไม่ทิ้งน้ำให้เปล่าประโยชน์แล้ว ยังเป็นการประหยัดเงินค่าน้ำอีกด้วย”
ทั้งหมดนี้เพราะ “น้ำคือชีวิต” คือปัจจัยสำคัญที่คงอยู่คู่คนไทยเสมอมา
“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพราะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ขอขอบคุณภาพจาก : สราวุธ อิสรานุวรรธน์ / Facebook : Iamzoof
////////////////////////////////////////////////////////////