3 วิธีไขลาน..เมื่อสั่งการแล้วงานไม่เดิน

0
1017
kinyupen

“การบริหารคือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยมือผู้อื่น ผู้ปกครองระดับธรรมดาใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ผู้ปกครองระดับกลาง ใช้กำลังของคนอื่นอย่างเต็มที่ ผู้ปกครองระดับสูง ใช้ปัญญาของคนอื่นอย่างเต็มที่”

 

แม้ยังคงไม่อาจยืนยันได้ว่าปรัชญานี้ มาจากปราชญ์ท่านใด บางแหล่งกล่าวว่าเป็นของขงจื๊อ บ้างก็ว่าเป็นของหานเฟยจื่อ ปราชญ์จีนโบราณยุคจ้านกว๋อ บ้างก็ว่าเป็นคำคมของขงเบ้งแห่งสามก๊ก แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่พันกี่ร้อยปีก็ยังตกผลึกให้นักบริหารนำมาปรับใช้ได้เสมอ

 

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ผู้บริหาร หรือ หัวหน้างาน มักพบเจอทำให้ยังไม่สามารถที่จะข้ามขั้นไปสู่ผู้ปกครองระดับกลาง หรือ ระดับสูงได้อย่างเต็มตัวนั่นก็คือ  “งานไม่เดิน สั่งแล้วไม่ทำ ต้องทำเอง” ซึ่งนี่คือประโยคสุดฮิตที่ 90% ของธุรกิจขนาดเล็ก หรือ  หัวหน้างานมือใหม่ยังแก้ไม่ตก

 

สาเหตุอาจเกิดจากศักยภาพทั้งของตัวผู้สั่งงานและผู้รับคำสั่ง อุปนิสัยส่วนตัวของบุคลากรในองค์กรนั้นๆ ที่ไม่พร้อมเปิดรับ หรือ หาช่องทางเลี่ยงบาลีในการปฏิบัติตามคำสั่งด้วยข้ออ้างต่างๆ นานาบ่อยครั้งจนงานไม่คืบหน้านำมาสู่ความรำคาญ จนรู้สึกว่าถ้าลงมือทำเองงานจะคืบหน้าและมีอุปสรรคน้อยกว่า

 

กรณีนี้ หัวหน้างานควรลองเช็คดูก่อนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ต้องมานั่งทำเองอยู่ตลอด โดยอาจต้องพิจารณาจาก 3 มุม นั่นคือ 1. งานอาจมีขอบเขตกว้างที่เกินไป 2. ผ่อนเวลาให้มากเกินไป 3.ให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในสายตาของลูกน้องมากเกินไป พร้อมข้อแนะนำต่อไปนี้

 

  1. ขอบเขตงานชัดเจน ระบุหน้าที่ที่ชัดเจนของบุคคลนั้น ตำแหน่งนั้นๆ ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง คาดหวังผลอย่างไรเพื่อเลือกคนที่เหมาะสมกับงาน โดยเฉพาะปัจจุบันที่พนักงานควรปรับตัว เรียนรู้เพิ่มทักษะให้เป็นแบบ Multi skill เพราะหมดยุคหนึ่งคนหนึ่งความรับผิดชอบแล้ว เห็นได้จากหลายองค์กรที่เริ่มมีการปลดพนักงานอายุงานสูงที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับกระบวนการทำงานและเทคโนโลยียุคใหม่จนกลายเป็นข้อจำกัด มากขึ้นเรื่อยๆ
  2. กำหนดเป้าหมายชัดเจน การมอบหมายงานนอกจากดูความสามารถและความเหมาะสมแล้ว ควรจะเลือกคนมีความมุ่งมั่น มีแนวคิดหรือลักษณะการทำงานในทางเดียวกันก็จะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้นได้
  3. วัดผลงานอย่างชัดเจน หาวิธีวัดผลของงานให้ได้ว่าบุคคลนั้นๆ สามารถทำงานถึงเป้าหมายกี่เปอร์เซ็นต์ อาทิ กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานที่ได้รับมอบหมาย ประสิทธิภาพชิ้นงาน ซึ่งเกณฑ์อาจมาจากการตกลงร่วมกันในทีม หรือ อาจประยุกต์จากความเร่งด่วนของงาน รวมถึงอาจประเมินร่วมกับ Working Hour เพื่อวัดผลปลายปีด้วยก็ได้

 

 

จากแนวทางเสนอแนะ 3 ข้อข้างต้น จะช่วยให้หัวหน้างานมองภาพองค์รวมของาน รวมถึงประสิทธิภาพของตัวหัวหน้างานเอง หรือ ลูกน้องในทีมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นำมาสู่การวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า งานไม่เดินเพราะอะไร อาทิ เกิดจากวิธีการสั่งงานที่ยังไม่สามารถดึงศักยภาพทีมงานออกมาเต็มที่ เกิดจากทัศนคติ หรือ ความรับผิดชอบส่วนบุคคลนั้นๆ หรือไม่ ต้องแก้อย่างไร ต้องหาคนเพิ่ม หาคนแทนหรือไม่

 

ทั้งนี้เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหา “งานไม่เดิน สั่งแล้วไม่ทำ เดี๋ยวทำเอง”ได้ตรงจุด จะได้ผลักดันตัวเองและองค์กรให้เดินหน้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

 

ที่มาข้อมูลอ้างอิง

ejobmag.com

kinyupen