ทราบหรือไม่ว่า ตำแหน่งของการปวดศีรษะแต่ละครั้งสามารถบอกได้ถึงความเสี่ยงต่อโรค หรือ เป็นสัญญาณเตือนให้ปรับพฤติกรรมได้ด้วย ทีมงานกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเรื่องราวน่าสนใจดังกล่าวมาฝากกัน
- เครียด – ปวดหน้าผากและขมับสองข้าง : อาการปวดที่พบมากสุด โดยสัมพันธ์กับภาวะความเครียด ส่งผลให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ บางครั้งปวดร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะและต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ร่วมด้วย
- ไมเกรน – ปวดขมับด้านใดด้านหนึ่ง : การปวดแต่ละครั้งอาจเกิดขึ้นสลับกันได้ระหว่างข้างซ้ายหรือข้างขวาและบางครั้งอาจมีอาการปวดร้าวที่กระบอกตาร่วมด้วย ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และอาการปวดอาจแย่ลงหากอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดัง หรือ มีกลิ่นฉุน
- ไซนัส – ปวดโหนกแก้ม ดั้งจมูก : ผู้ที่มีอาการอักเสบของไซนัส มักมีอาการปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างมาจนถึงบริเวณหน้าผาก หรือ ปวดตรงบริเวณดั้งจมูก เพราะเป็นบริเวณที่ตั้งของไซนัส
- กรามอักเสบ – ปวดหน้าใบหู : อาการปวดบริเวณนี้มักสัมพันธ์กับการเคี้ยวอาหาร และอาการกัดฟันเวลานอนหลับด้วย เพราะสามารถทำให้กระดูกกรามหน้าใบหูอักเสบได้
- หลอดเลือดสมอง/เนื้องอกสมอง – ปวดหัวแบบรุนแรง : ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายของโรคเหล่านี้ มักจะปวดศีรษะในลักษณะที่รุนแรงมากชนิดที่ว่าไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน อาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อน เกิดอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ร่วมด้วย บางครั้งอาจเกิดอาการชักผสมด้วย ซึ่งหากมีอาการตามข้อนี้ เกิดขึ้นขอแนะนำให้มาพบแพทย์โดยเร่งด่วน
นอกจากนั้น ถ้าหากมีอาการปวดศีรษะแบบมีไข้หรือคอแข็งเกิดขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง กรณีนี้ก็ต้องเร่งพบแพทย์เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูล : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ผศ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร