“ทุกข์ – สุขเป็นของคู่กัน บางครั้ง “ความทุกข์” ก็เกิดจากการที่เรามุ่งแสวงหาแต่ความสุข ขณะเดียวกัน “ความสุข” บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายเพียงแค่เราปล่อยวางจากความทุกข์”
ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขตามที่เราต้องการได้อย่างไร และด้วยนิยามความสุขของคนเราแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำแนวคิดสร้างสุข 3 จากวัฒนธรรมจากซีกโลกตะวันตก และตะวันออก มาฝากกัน เผื่อแต่ละท่านนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม
Hygge : สุขง่ายๆ เริ่มได้รอบตัว
Hygge (ฮุกกะ) ปรัชญาดำเนินชีวิตของเดนมาร์ก ประเทศที่ได้รับการยกย่องเป็นเมืองแห่งความสุขอันดับหนึ่งของโลกจากการจัดอันดับของยูเอ็น โดยฮุกกะเป็นศัพท์ภาษานอร์เวย์ แปลว่า การอยู่ดีมีสุข หรือ ตีความผ่านปรัชญาการดำเนินชีวิตคือ “ความสุขเล็กๆ ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน” ซึ่งชาวเดนมาร์กเข้าใจดีว่ามีจุดเริ่มต้นจากภายในจิตใจ มักเกิดในช่วงเวลาที่ได้อยู่กับคนใกล้ชิดมิตรสหายที่เข้าใจ ด้วยวิถีที่เรียบง่ายแต่ก็เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่นและความผูกพัน จึงถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดบ้าน ออกแบบบ้าน ดื่มกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์ยามเช้า นั่งคุยสบายๆ กับมิตรสหาย การทำอาหารเพื่อทานร่วมกัน การกอด การดูภาพยนตร์ร่วมกัน ฯลฯ
ปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกแบ่งปันออกมาผ่านหนังสือ The Little Book of HYGGE : ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก โดย Meik Wiking ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขแห่งเดนมาร์ก และกำลังเป็นกระแสสนใจจากทั่วโลก
ทั้งนี้ ฮุกกะ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสร้างสุขที่ง่ายต่อการปรับใช้ หากในจุดเริ่มต้นต้องค้นหาแก่นของตนเองให้เจอก่อนว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร พอใจอะไรเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การตื่นนอนยามเช้า การอ่านนิยาย ดูหนัง ฟังเพลงระหว่างเดินทาง หรือ ทานสิ่งที่ชอบก่อนเริ่มงานก็ได้
Nunchi : รู้จักใจเขาใจเรา เข้าให้ถูกกาลเทศะ
Nunchi เคล็ดลับสร้างความสุขแบบเกาหลี หมายถึง ศิลปะในการสัมผัสถึงผู้อื่นได้ว่ากำลังคิด หรือ รู้สึกอย่างไร ควรตอบกลับอย่างไรจึงจะเหมาะสม อุปมาก็เหมือนกับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้กลุ่มคนที่เรากำลังคุย หรือ เผชิญอยู่นั้นกำลังรู้สึกอย่างไร เพื่อที่จะได้แสดงออก หรือ กระทำสิ่งที่ถูกต้องตามกาลเทศะและมารยาท เช่น การพูดไม่เหมาะสมผิดที่ผิดเวลา เล่นสนุกในขณะที่คนอื่นกำลังเศร้าโศก หรือ พูดแทรกนอกเรื่องในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ในที่ประชุม
ทั้งนี้หนังสือ The Power of Nunchi : the Korean Secret to Happiness and Success เขียนโดย Euny Hong มีการระบุใจความสำคัญว่า คนเกาหลีมีคำพูดว่า “ครึ่งหนึ่งของ social life คือ nunchi” ทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อเข้าสังคมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ได้สิ่งที่ต้องการจากผู้อื่นและป้องกันตนเองจากอันตราย โดยเด็กเกาหลีทุกคนถูกสอนให้มี Nunchi เพื่อเรียนรู้และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม
ดังนั้นการนำ Nunchi มาประยุกต์ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนรอบตัว ก็อาจเป็นวิธีสร้างสุขที่ดีและเริ่มได้ง่ายๆ เพราะเมื่อเราเข้าใจผู้อื่น หันมาใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแสดงออกได้อย่างเหมาะสมแล้วนั้น เราก็ย่อมไม่กระทำในสิ่งที่จะไปสร้างความขุ่นมัวที่นำสู่ความเป็นทุกข์ให้เกิดขึ้นระหว่างเราและคนรอบตัวนั่นเอง
ไม่เป็นไร : วิถีสร้างสุขสไตล์ไทย
ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ ตีความนิยามคำว่า “ไม่เป็นไร” วลีติดปากของคนไทย ไว้ในคอลัมน์อาหารสมองที่ตีพิมพ์ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจอย่างน่าสนใจว่า มีความหมายในเชิงที่ว่า เมื่อเสียไปแล้วก็อย่าไปหมกมุ่นเสียใจ เสียดายกับมันคิดว่าช่างมันและตัดมันไป และเริ่มต้นใหม่กันดีกว่า ทัศนคติแบบนี้ทำให้เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ไม่ติดกับดักอดีตโดยยอมรับสิ่งที่เสียไป แต่ “ไม่เป็นไร” บางครั้งก็ถูกตีความว่าเป็นทัศนคติที่ไม่ใยดีกับสิ่งลบที่เกิดขึ้น ไม่ให้ความสำคัญหรือให้ความจริงจังกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะคิดว่า “ไม่เป็นไร” อยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะตีความในด้านบวกหรือลบก็ตาม ต้องยอมรับว่าทัศนคติ “ไม่เป็นไร” นั้นทำให้เกิดความสุขขึ้นได้ กล่าวคือ มีความรู้สึกยอมรับสิ่งที่สูญเสียและมาเริ่มกันใหม่ ไม่จมอยู่ในความทุกข์เพราะทำไม่สำเร็จ คนที่ไม่ว่าอะไรก็ “เป็นไร” อยู่เสมอนั้น จะมีความเครียดเพราะจริงจังเกินไปกับทุกสิ่งในโลกนี้ที่ไม่มีอะไรจีรัง หากตีความตามที่ ดร. วราภรณ์ ระบุก็จะสอดคล้องกับหลักคิดที่ว่า “วางเป็น..ก็เย็นใจ” ของท่าน ว.วชิรเมธี นั่นเอง
จากแนวคิดสร้างสุขทั้ง 3 ข้อที่ทีมงานกินอยู่เป็นนำมาเสนอ หวังว่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้ผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งสำคัญที่อยากย้ำเสมอเกี่ยวกับผู้ที่กำลังมุ่งค้นหาความสุขนั่นก็คือ เพราะนิยามความสุขแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ดังนั้นพึงเข้าใจก่อนว่าความสุขแท้จริงที่เราต้องการคืออะไร จากนั้นเราจะพบหนทางที่จะนำไปเอง