ยุคสมัยนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเราให้ความสนใจเรื่องของการแต่งกายอย่างมาก ล่าสุดมีเทรนด์การแต่งกายใหม่ ด้วยการเลือกเอาเสื้อผ้าทุกประเภท ทุกรูปแบบมาผสมผสานกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกว่า “จะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย”
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของเทรนด์การแต่งกายที่เรียกว่า Androgynous (แอน-ดรอส-เจอ-นิส) หรือ การแต่งกายสลับกับเพศสภาพ ซึ่งการแต่งกายแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในโลกแฟชั่น แต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมานาน ตั้งแต่ในอดีต เราจะเห็นกันบ่อยๆ ก็ตามสื่อโทรทัศน์ ที่มีดารานักแสดงตลกแต่งกายจากชายเป็นหญิง และจากหญิงเป็นชาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้รับสาร แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เวลาที่เราเห็นใครแต่งกายไม่ตรงกับเพศสภาพก็จะมองพร้อมตั้งคำถาม “เป็นตุ๊ด เป็นกะเทย เป็นทอม” ใช่ไหม? ใครที่โดนคำถามนี้เข้าไปอาจจะรู้สึกไม่โอเคกับคำถามดังกล่าวเล็กน้อย
แต่ตอนนี้ การลุกขึ้นมาหยิบเครื่องแต่งกายของอีกเพศมาสวมใส่อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เพราะเทรนด์ Androgynous ในโลกแฟชั่น กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากและเปรียบเสมือนสัญญะของโลกในอุดมคติแบบเสรีประชาธิปไตยในตอนนี้ มีคนดังหลายคนอย่าง Sarah Bernhardt นักแสดงชื่อดังชาวฝรั่งเศส ที่สวมชุดสูทและกางเกงสั่งตัด พร้อมรับบทบาทสำคัญผ่านตัวละครในเรื่อง Hamlet ในปี พ.ศ.2532 จนสร้างความฮือฮาไปทั่วปารีส ไม่เพียงแค่นั้น ทางด้านของ Yves Saint Laurent นักออกแบบหัวสมัยใหม่แห่งทศวรรษที่ 1960 ออกแบบชุด Le Smoking ชุดทักซีโด้สำหรับสุภาพสตรี ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างเพศโดยใช้เครื่องแต่งกายในการปลดแอก
และที่เป็นกระแสฮือฮาในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คงหนีไม่พ้น นักแสดงหนุ่มวัยรุ่นชื่อดังอย่าง “เจมส์ ธีรดนย์” ที่ลุกขึ้นมาหยิบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของผู้หญิงมาสวมใส่ โดยมองว่าไม่จำเป็นต้องใส่ของผู้ชายตลอด การที่เราหยิบของผู้หญิงมามิกซ์ได้ทำให้เขามีความสุข โดยไม่ขอแคร์สายตาคนรอบข้างที่มองว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” หรือไม่?
และล่าสุด นักร้องและนักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง อย่าง Billy Porter ที่สวมชุดทักซิโด้สีดำ ติดโบว์ พร้อมกระโปรงสุ่มกำมะหยี่สีดำ มาร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 91 บอกเลยว่าเรียกเสียงฮือฮาให้กับคนในงานเป็นอย่างมาก โดย Billy มองว่า ต้องการที่จะเล่นสนุกกับความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีในคราวเดียวกัน และเมื่อมันได้มาอยู่บนตัวของผมเองแล้วนั้น มันช่างเป็นเรื่องที่น่าสนใจเกินกว่าที่ใครจะปฏิเสธได้ลง
สำหรับเทรนด์ Androgynous ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่ามีส่วนสร้างความเท่าเทียมและเพิ่มความหลากหลายในโลกแฟชั่นอย่างมาก ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ความงามถูกจำกัดอยู่กับแค่หนุ่มสาวฝรั่งผิวขาวผอมสูงเท่านั้น แต่บุคคลในรูปลักษณ์อื่นๆ ก็สามารถมีความงามได้เช่นกัน
นักวิชาการหลายท่านมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า ความเป็นหญิงและชายถูกกำหนดขอบเขตในการแสดงออกทางเพศตรงกับบรรทัดฐานของสังคมและกรอบของเพศอย่างชัดเจนนั้น ส่งผลพัวพันกับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของอำนาจการปกครองที่ซ่อนเร้น กล่าวคือ สังคมลักษณะนี้มักชูให้เพศสภาพหนึ่งอยู่เหนือเพศสภาพหนึ่งเสมอ เช่น ผู้ชายถูกยกและเทิดทูนมากกว่าผู้หญิง ดังนั้น การแสดงออกไม่ตรงตามเพศสภาพด้วยการแต่งกายสลับขั้วไปมา จากผู้ชายที่สวมกางเกงก็เปลี่ยนมาสวมกระโปรง ส่วนผู้หญิงที่สวมกระโปรงก็เปลี่ยนมาสวมกางเกงขากระบอกแบบผู้ชาย นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของระเบียบโครงสร้างของสังคมที่มีอยู่เดิม
เทรนด์ Androgynous หรือการแต่งกายไม่ตรงตามเพศสภาพ ถามว่ามีความผิดร้ายแรงหรือไม่? ความจริงแล้วไม่ได้มีความผิดถึงขั้นร้ายแรงอะไร เพียงแต่เทรนด์ดังกล่าวยังไม่ได้รับความนิยมแบบที่คนทั้งโลกลุกขึ้นมาทำกัน แต่เป็นแค่เพียงคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจเรื่องแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย มีความคิดสร้างสรรค์ ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนหน้า ที่ฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามผู้หญิงแต่งตัวเหมือนผู้ชายเดินไปมาในที่ธารกำนัล ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายอย่างมาก
สุดท้าย เสื้อผ้าก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เทรนด์ Androgynous หยิบยกมาใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าจนถึงจุดที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียม มีความสุขจากการได้รับเกียรติ และการยอมรับจากสังคม เพราะสิ่งที่บ่งบอกตัวตนถึงความเป็นหญิงหรือชาย จะดีหรือจะร้าย อยู่ที่เจตนาและการกระทำ มิใช่เพียงแค่การสังเกตผืนผ้าไม่กี่เมตรที่ตัดเย็บสำหรับห่อหุ้มร่างกายเพียงเท่านั้น และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต