รูรั่ว ผ้าขาด และ ความเสียใจ

0
520
kinyupen

แต่ความจริงไม่ว่าใครก็เคยผ่านความเสียใจกันมาทั้งนั้น ความเสียใจไม่เคยหมด เสียใจแล้วก็เสียใจอีกได้ บางทีก็เป็นเรื่องเดิมๆ แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องใหม่ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีบทความดีๆ จากสารคดีวิทยุ ชุดวัคซีนใจสู้ภัยโควิด-19 ของกรมสุขภาพจิต มาฝากกัน

 

มีคนบอกว่าความเสียใจเหมือน “รูรั่ว” เวลาที่เราเจอรูรั่ว เราอุดรูรั่วใช่ไหม แต่ถ้าอุดแล้ว อาจจะรั่วหรือไม่รั่วอีกก็ได้ หรือ บางทีก็ไปเกิดรูรั่วตรงอื่นแทน คนเราก็ช่างเปรียบ จินตนาการเห็นภาพเลยทีเดียว

 

 

เวลาเราที่เสียใจ เราก็จะทำเหมือนการอุดรูรั่ว คือ แก้ปัญหาหรือเรื่องราวที่ทำให้เราเสียใจก่อน เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้ามา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กว่าจะอุดรูรั่วได้ เราก็ต้องเปียกปอนไปทั้งตัว

 

ความเสียใจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนที่ไม่เคยเสียใจเลย จะไม่มีวันรู้จักรสชาติของชีวิต เหมือนกินอาหารจืดๆ แต่คนที่เคยผ่านความเสียใจมานับครั้งไม่ถ้วน จะเข้มแข็งและฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยเสียใจ

 

เพราะเวลาที่เราเสียใจแต่ละครั้ง นั่นคือการค้นพบ ด้านที่บอบบาง ผิดพลาดของตัวเอง เหมือนเจอรูรั่ว เป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขตัวเอง ยอมรับความบกพร่อง ขาดๆ วิ่นๆ ของชีวิตได้

นี่ละ…ข้อดีของความเสียใจ

 

 

พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงลุงเชาว์… ผู้ใหญ่ที่นับถือท่านหนึ่ง

ลุงเชาว์ เคยบอกว่า ความเสียใจเหมือนเสื้อผ้าที่ขาด แล้วเราก็ยังใส่มันอยู่ ด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจจะเป็นเพราะชอบ หรือ เพราะเสื้อตัวนั้นมีความหมายกับเรา

 

แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ใส่เสื้อตัวเดียวทุกวัน มันก็เลยมีวันที่เราเสียใจบ้าง ไม่เสียใจบ้าง โชคดีบางวันก็มีเรื่องดีใจให้อมยิ้ม

 

ลุงเชาว์ บอกว่าจงใช้ความเสียใจเหมือนใส่เสื้อขาดที่แม้จะเย็บแล้ว เย็บเล่า แต่ทุกครั้งที่ใส่ เราก็มีความสุขทุกครั้ง ไม่เคยนึกรังเกียจ

เราไม่สามารถกลับไปแก้เสื้อที่ขาดแล้วให้เหมือนเดิมได้ เหมือนไม่สามารถทำให้รูรั่วกลายเป็นหลังคาที่ใหม่ได้

 

 

แต่ทั้งเสื้อขาดและรูรั่ว สอนเราให้เข้าใจชีวิต เสื้อยิ่งขาดมากเท่าไหร่ รูรั่วยิ่งรั่วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรารู้จักทะนุถนอมของใหม่ๆที่ยังไม่ขาด ไม่รั่ว มากขึ้นเท่านั้น

 

ชีวิตคนก็เช่นกัน ความเสียใจ มีไว้ให้เรารู้จักรักษา โอบกอด และดูแลปัจจุบันในชีวิตให้มีค่าที่สุดค่ะ  

 

kinyupen