ชีวิตหมดไฟ…โรคใหม่ยุค New Normal

0
475
kinyupen

ไม่อยากเรียน ไม่อยากทำงาน เบื่อหน่าย หมดแรงพลังที่จะใช้ชีวิต หมดหวังกับการสร้างอนาคต ปิดตัวเองออกจากสังคม ไม่พบปะผู้คน…กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมองว่าประเด็นเหล่านี้คือความรู้สึกและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในสังคมโลกยุค New Normal

ด้วยเพราะสถานการณ์ต่างๆ ที่บีบบังคับทั้งปัญหาเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการทำงานหรือการใช้ชีวิต รวมถึงการแพร่ระบาดของ   โควิด-19 ภัยพิบัติร้ายแรงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วิถีชีวิตที่เคยเป็นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการจะหลุดพ้นกรอบวัฒนธรรมแบบเดิมออกไปแสวงหาเส้นทางชีวิตของตัวเอง

 

“นอนแผ่ราบเฉยๆ” การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

คอลัมน์ World Exclusive วารสารการเงินธนาคาร ฉบับกันยายน ทำรายงานเรื่อง “วิถีชีวิตจีนรุ่นใหม่ : หมดไฟ” ที่สะท้อนถึงสังคมคนจีนรุ่นใหม่ที่กำลังท้อแท้หมดไฟสู้กับชีวิต ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี

 

สังคมคนจีนรุ่นใหม่แนวคิดและอุดมการณ์เรื่องการสร้างชาติกำลังลดลงจนน่าวิตก คนหนุ่มสาวบางกลุ่มกล้าที่จะออกมาแสดงแนวคิดนี้ผ่านโลกออนไลน์อย่างเปิดเผย สะท้อนถึงวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่ต้องการกดดันตัวเองอีกแล้ว ยอมตกงานหาเงินจากงานเล็กๆ น้อยๆ ไปวันๆ กินอาหารแค่ประทังชีวิตวันละ 1-2 มื้อ

เลือกที่จะหันหลังให้กับอุดมการณ์สร้างชาติที่ถูกสั่งสมมานาน เพราะความอ่อนล้าเหนื่อยหน่าย โดยเฉพาะคนระดับกลาง และ คนระดับล่าง ซึ่งต้องทนทำงานวันละกว่า 10 ชั่วโมง แต่รายได้กลับไล่ไม่ทันราคาบ้านที่พุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถซื้อบ้านของตัวเองได้ จึงทำให้รู้สึกท้อแท้ หมดหวังที่จะสร้างอนาคต

 

สิ่งที่คนจีนรุ่นใหม่กำลังโหยหาก็คือ การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความกดดันทางเศรษฐกิจและสภาพทางสังคมปัจจุบัน โดยการแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ “นอนแผ่ราบเฉยๆ” แชร์พฤติกรรมผ่านโลกออนไลน์ เสมือนหนึ่งว่าหมดแรงที่จะดิ้นรนต่อสู้อีกต่อไป และพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ

 

 “นีตโตะ” และ “ฟรีตะ” วิถีชีวิตคนญี่ปุ่นสมัยใหม่

NEET มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Not in Education , Employment or Training หรือ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “นีตโตะ” หมายถึงบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเรียน ทำงาน หรือ ฝึกงานใดๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 18 – 30 ปี นั่นคือก็คือกลุ่มคนวัยเรียนหรือวัยทำงานนั่นเอง

คนกลุ่มนี้เลือกที่จะนั่งๆนอนๆอยู่บ้าน เล่นเกม ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวให้ห้องไม่ออกนอกบ้าน บางคนแต่งตัวดีออกจากบ้านเหมือนจะไปทำงานแต่ไปอยู่ตามร้านเกม ร้านปาจิงโกะใช้ชีวิตให้หมดไปแต่ละวัน คาดการณ์ว่าชาว NEET ในประเทศญี่ปุ่นมีไม่ต่ำกว่า 650,000 คน

 

สาเหตุของการเป็นชาว NEET มีหลากหลาย ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทปิดกิจการ ไม่มีงานทำ เบื่อชีวิตการทำงาน สังคมทำงานแบบฉบับของคนญี่ปุ่นคือ ทำงานหนัก เคร่งเครียด จริงจัง ทุกอย่างเร่งรีบแข่งขันกับเวลาไปหมด สมัยเรียนถูก Bully จนไม่กล้าเข้าสังคม รวมถึงการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ตามใจลูกมากจนเกินไปออกแนวพ่อแม่รังแกฉัน ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพชีวิตในสังคมอันโหดร้ายได้

 

นอกจากชาว NEET แล้วในประเทศญี่ปุ่นยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งชื่อว่า “FREETER” หรือ “ฟรีตะ” ในภาษาญี่ปุ่น คือคนที่ทำงานเป็นงานๆไป เป็นงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ พวกงานในร้านสะดวกซื้อ แจกใบปลิว งานในร้านอาหาร ที่คนญี่ปุ่นหันมาทำงานแบบนี้ก็เพราะเบื่อหน่ายกับงานประจำ จึงเปลี่ยนมาหางานทำเล็กๆน้อยๆ ให้พอมีรายได้แทนที่ต้องจมอยู่กับความเครียดนั้นต่อไป และมักเปลี่ยนงานไปเรื่อยจนกว่าจะเจองานในฝันที่ตัวเองอยากทำ ถ้าไม่เจอก็ใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป

 

เบื่อหน่าย หมดไฟทำงาน มาจาก 3 องค์ประกอบ

ภาวะ “หมดไฟ” หรือ Burn Out หมายถึง การตอบสนองต่อความเครียดเรื้อรังจากการทำงานมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่

 

  1. ความอ่อนล้าทางอารมณ์ ความรู้สึกหมดพลังกับการทำงานจากการรับแรงกดดันทางอารมณ์ที่มากเกินไป
  2. การเกิดทัศนคติด้านลบต่อผู้รับบริการหรือกับงาน ไม่ใส่ใจ เฉยเมย หรือเย็นชา และแยกตัวจากผู้อื่น
  3. ความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้

 

หากภาวะหมดไฟนี้เกิดขึ้นเมื่อไรความสุขจากการทำงานจะเริ่มหายไปจนหมดใจที่จะทำงาน เกิดความผิดพลาดนำมาซึ่งความเสียหายต่อองค์กร ส่อแววที่จะลาออกจากงานได้ทุกเมื่อ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้ภาวะ “หมดไฟ” หรือ Burn Out จากการทำงานเป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ โดยสาเหตุมักจะเกิดจากการสั่งสมความเครียดจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน

 

หากไม่มีคนทำงานจะเกิดอะไรขึ้น

สังคมทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงในหลายประเทศ ทำให้หลายประเทศต้องหาแรงงานมาชดเชยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนคนรุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียนตัวเอง

 

การที่กลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมกันบอกว่า…ฉันจะไม่ได้ทำงาน ฉันจะอยู่บ้านเฉยๆ ทำให้ประเทศต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ยิ่งกลุ่มคนเหล่านั้นมีมากเกินกว่าครึ่งของจำนวนประชากรในประเทศจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ขับเคลื่อน หลายกิจการอาจจะต้องปิดตัวลงหรือย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ตกลงไปเรื่อยๆ จากประเทศกำลังพัฒนาก็หยุดพัฒนาทันที

 

เปรียบบริษัทแห่งหนึ่งเท่ากับประเทศ พนักงานที่เป็นกำลังหลัก ประท้วงหยุดงาน พร้อมใจกันลาออก ด้วยเหตุผลที่ว่า            เบื่อ เหนื่อย ไม่อยากทำต่อ  ค่าแรงน้อย อยากใช้ชีวิตสบายๆ Slow Life ไปวันๆ บริษัทเตรียมปิดได้เลย เมื่อไม่มีคนทำงาน แน่นอนการขับเคลื่อนของประเทศก็ต้องหยุดชะงักลง ไม่มีผลผลิต ไม่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแพทย์ กลายเป็นพังทั้งระบบ เหลือแค่เพียงมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรให้หมดไปกับประเทศที่ค่อยๆ ล้มละลาย #ย้ายประเทศกันเถอะ

 

หมดไฟ…..ทำยังไงดี

สำหรับวัยรุ่น วัยเรียน จัดการเรียนการสอนเรื่องอาชีพลงไปในหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจชีวิตของการทำงานหลังเรียนจบมากขึ้น และมีความคิดที่ดีต่อการทำงานในอนาคต เพิ่มความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจมากขึ้นเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีโอกาสฝึกฝน เรียนรู้ชีวิตการทำงานให้มากที่สุด

ซึ่งปัจจุบันสถาบันการศึกษาได้มีการจัดทำหลักสูตรสายอาชีพมากขึ้น เน้นการลงมือทำงานในสถานประกอบการจริง จัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ได้มีการพบปะกับบุคคลอื่น ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อสร้างการเรียนรู้สิ่งอื่นที่ในหนังสือไม่มีสอนไว้ สร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟให้อยากเรียนอีกครั้ง

 

ช่วงนี้อาจจะยากหน่อย เพราะออกไปไหนไม่ได้ แต่โลกออนไลน์มีความรู้บรรจุไว้มากมาย อยากรู้อะไร เสริช์หาได้เลย ความรู้อยู่แต่ปลายนิ้วมือ อยากผลิตหุ่นยนต์ อยากทำอาหาร ทำขนม หาดูได้ง่ายว่าสมัยก่อนเยอะ

 

กลุ่มคนทำงาน มนุษย์เงินเดือน หากเกิดภาวะหมดไฟขึ้นมา ไม่ได้ลำบากแค่ตัวเอง คนที่อยู่ข้างหลังก็พลอยลำบากไปด้วย สิ่งที่จะมาช่วยจัดการความรู้สึกนั้นได้คือต้องรู้จักจัดการปัญหา รู้จุดหาทางแก้ มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อยเกินไปก็ไม่ไหว เอาแต่พอดี การสื่อสารก็สำคัญ ทักทายเพื่อร่วมงาน ยิ้มให้กันบ้าง มีอะไรก็ปรึกษากัน ขอความช่วยเหลือหากจำเป็น ยอมรับความแตกต่างและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน  รู้จักเข้าสังคมสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานตามโอกาส ไม่ทำตัวแปลกแยก เข้าถึงยาก เพราะจะยิ่งทำให้ห่างจากคนอื่นไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องอยู่คนเดียว

 

หรือถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ ลองเปลี่ยนบรรยากาศ ออกเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อนชาร์จพลังงานให้ตัวเองพร้อมกับมาลุยงานเต็มที การทำงานแบบ Work From Home ทำให้ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม ต้องจัดสรรเวลาการทำงานกับเวลาส่วนตัวให้ดี เดี๋ยวพังด้วยกันทั้งคู่

 

หมดไฟ หรือ หมดใจ เกิดขึ้นได้กับคนทุกคนอยู่ที่ว่าจะจัดการอย่างไร ค่อยๆปรับๆ หาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้กัดกินหัวใจนานเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ เพราะวันนั้นอาจไม่เหลืออะไรเลย นั่นอาจไม่ใช่ชีวิตอิสระที่คุณต้องการอย่างแท้จริง

kinyupen