เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เอ่ยปากสนับสนุนให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยระบุว่า ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด และมีความเสถียรที่สุด หากเทียบกับพลังงานสะอาดชนิดอื่น
ไม่ว่าจะเป็นพลังจากน้ำ ลม หรือแสงอาทิตย์ ล้วนแต่มีข้อจำกัดระยะเวลา เช่น แสงอาทิตย์ต้องกลางวันแดดจ้า ๆ ใช้ผลิตไฟได้อย่างมากแค่ 4-5 ชั่วโมง ขณะที่ลม ยิ่งไม่เสถียรหนัก แล้วแต่ลมเพลมพัด ส่วนน้ำในเขื่อน ก็ต้องแบ่งปันใช้สอยร่วมกับภาคเกษตร ขึ้นกับฤดูกาล ทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงตอบโจทย์อุตสาหกรรมการผลิตในโลกยุคปัจจุบัน และจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย
ไม่เฉพาะแต่เจ้าสัวธนินท์ที่เห็นถึงประโยชน์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็มีท่าทีอยากเห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากทริปเดินทางไปเยือนฝรั่งเศส ได้พบปะพูดคุยกับ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส สดับรับฟังข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นำมาซึ่งการสั่งการให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการศึกษาแนวทาง ข้อดี ข้อเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบบย่อส่วน หรือที่เรียกว่า SMR (Small Modular Reactors) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ไม่มาก มีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีความเหมาะสมกับการใช้งาน ควบคุมดูแลมาตรฐานความปลอดภัยได้ดีกว่าขนาดโรงใหญ่อย่างในอดีต
ขณะเดียวกัน ในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี) ล่าสุด มีการกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอาไว้ที่ 600 เมกะวัตต์ แต่ระบุว่า จะเกิดขึ้นในช่วงปลายแผน เท่ากับว่า หากแผนการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะสามารถเกิดขึ้นจริง และได้รับการสนับสนุน ผลักดันจากรัฐบาล ก็เชื่อว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ถึงกระนั้น เรื่องนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องตัดสินใจ เพราะยังต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยยอมรับ
แต่เรื่องเร่งด่วนจริง ๆ ที่ต้องหาข้อยุติให้ได้ คือ แนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 3,668 เมกะวัตต์ ที่มีข่าวว่า จะไม่มีการประมูล แต่ใช้วิธีคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตจากรายชื่อผู้เสนอตัวครั้งที่แล้ว ซึ่งมีอยู่ 198 ราย อันเป็นที่มาของการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า คัดค้านวิธีการไม่เปิดประมูลว่า เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า และทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินไป
ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะรู้ผลว่า เอื้อกลุ่มทุนใหญ่จริงหรือไม่
นอกจากนี้ อีกปัญหาใหญ่ที่ต้องปรับ คือ แผนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินความต้องการ หรือซัพพลายที่มากกว่าดีมานด์ กล่าวคือ หลักการคำนวณประมาณการการใช้ไฟฟ้าที่อ้างอิงจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยปกติจะอ้างอิงอัตราจีดีพีเติบโตปีละ 4% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของไทยทำผลงานได้แย่ เติบโตอยู่ระหว่าง 1.9-3.9% มีเพียง 2 ปี คือ ปี 2561 และ 2563 เท่านั้น ที่ทำได้เกิน 4%
ปริมาณการผลิตไฟฟ้าต่อปีอยู่ที่ระหว่าง 4-5 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ใช้จริงไม่ถึง 3 หมื่นเมกะวัตต์ ส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้า ที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 15% กลายเป็นสำรองเกิน 50% ไปแล้ว ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจที่มีสต๊อกสินค้าล้นโกดัง ต้องแบกภาระต้นทุนเอาไว้โดยไม่จำเป็น
ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงระบุว่า ไทยจำเป็นต้องลดต้นทุนพลังงาน ไม่เช่นนั้น จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่จูงใจเม็ดเงินต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพราะมีต้นทุนด้านพลังงานที่สูง
ลงมือแก้ตอนนี้ก็ยังไม่สาย
ที่มา : ประชาชาติ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก โดยกองบรรณาธิการ
ผู้เขียน : วิมล ตัน