ไทยเตรียมเก็บ “ค่ารถติด” แก้ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ

0
107
kinyupen

ขึ้นชื่อว่า “เมืองหลวง” เมืองใหญ่ที่คราคร่ำไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ผู้คนมากมาย นอกจากจำนวนประชากรวัยทำงานแล้ว เรื่องถนนหนทางก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายๆประเทศแก้ไม่เคยตก จำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร แต่ไม่สมดุลกับถนนที่มีจำนวนเลนเท่าเดิม ปัญหารถติดจึงกลายเป็นเรื่องคลาสสิกที่ต้องหาทางแก้ไข วันนี้ กินอยู่เป็น 360  องศาแห่งการใช้ชีวิต ได้ยินข่าวแว่วๆมาว่า ในอนาคตบ้านเราอาจแก้ปัญหารถติดในหัวเมืองชั้นในด้วยการเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด” ตามแนวทางที่ต่างประเทศใช้กันและสามารถลดจำนวนรถในเส้นทางนั้นได้อย่างชัดเจน

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge เป็นหนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมือง ซึ่งเกิดจากไอเดียของการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ที่มีผลสำเร็จจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่การจราจรแออัด และเป็นพื้นที่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงอย่างสะดวก

ในส่วนของประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน รวมไปถึงหาแนวทางกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเริ่มศึกษารูปแบบของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จากการนำความสำเร็จของหลายประเทศที่ใช้โมเดลแก้รถติดจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาศึกษาเปรียบเทียบ และต่อยอดสู่โมเดลที่เตรียมใช้ในประเทศไทย โดยใช้โมเดลจาก 5 เมืองใหญ่ที่เคยประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้ คือ

1.กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (อังกฤษ)

2.ประเทศสิงคโปร์

3.เมืองสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

4.เมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน

5.เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

สำหรับ ผลลัพธ์จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่รถติดของทั้ง 5 เมืองดังกล่าว พบว่า ส่งผลบวกในการแก้ไขปัญหาปริมาณการจราจรที่แออัด โดยในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี สามารถลดปริมาณการจราจรได้มากถึง 34% ขณะที่ในกรุงลอนดอน ก็สามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวมากถึง 18% รวมทั้งกรุงลอนดอนยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 352 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้

ขณะที่รูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของไทยนั้น พื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดอาจเริ่มใช้ที่ถนนสุขุมวิท สีลม และรัชดา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ปัจจุบันมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย มีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน โดยพื้นที่เหล่านี้มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 7 แสนคันต่อวัน

โดยเบื้องต้นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 40 – 50 บาท หลังจากนั้นจะจัดเก็บคันละ 80 บาท เป็นต้น คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นกระทรวงฯ จะนำรายได้เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน และปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ลดค่าครองชีพในการเดินทางให้ประชาชน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here