แนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงคือ การสร้าง New Engine of Growth ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค (ASEAN Halal Hub) นับเป็นการใช้จุดเด่นของการเป็นประเทศที่แข็งแกร่งทางด้านการเกษตรและมีความมั่นคงทางด้านอาหารมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากตลาดฮาลาลถือเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพสูง เมื่อพิจารณาจากจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกมีอยู่ราว 2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก ขณะเดียวกัน หลายประเทศมุสลิม เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ยังมีกำลังซื้อสูงกว่าไทย 4-10 เท่า
Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2024 ได้จัดทำรายงานผลการสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2567 ผลการสำรวจพบว่า ไทยติดอันดับที่ 32 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม และเป็นอันดับที่ 5 สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม (Non-OIC) สะท้อนว่า ไทยสามารถที่จะยกระดับการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ อาหาร เครื่องแต่งกาย การบริการ การท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดฮาลาลมีสูงมาก สามารถใช้จุดแข็งของสินค้าและบริการที่ไทยมีความโดดเด่นเจาะตลาดมุสลิม เห็นได้จากประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC) รายใหญ่ของโลก ได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ล้วนไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม สะท้อนว่า ตลาดอาหารฮาลาลค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ได้จำกัดว่าต้องนำเข้าจากประเทศมุสลิมเท่านั้น สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีข้อได้เปรียบทั้งในมิติของความเชี่ยวชาญด้านอาหารที่โดดเด่นและความพร้อมด้าน Ecosystem ประกอบกับชื่อเสียงด้าน Soft Power และการท่องเที่ยวที่ชาวมุสลิมนิยมเดินทางมาประเทศไทย จึงถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายสู่ตลาดฮาลาลโลก
ดร.รักษ์ กล่าวว่า การเปิดตลาดสินค้าฮาลาลจำเป็นต้องมีการผลิตหรือการบริการที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม เช่น อาหาร เครื่องใช้ หรือสาธารณูปโภค โดยสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ จะต้องถูกต้องตามมาตรฐานฮาลาลที่รับรองโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยดำเนินการผ่านคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ การรับรองอนุญาตคือ การออกตรา ติดเครื่องหมายฮาลาลบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือกิจการ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจที่จะซื้อสินค้าและบริการ
“เครื่องหมายฮาลาลและหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล ที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ EXIM BANK ได้บูรณาการความร่วมมือกับสกอท. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (iBank) สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล และกระบี่ และหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก” ดร.รักษ์ กล่าว
นางสาวปิยะรส แก้วทับทอง Export Manager บริษัท พริกหอม อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าคางกุ้งทอดกรอบ ส่งออกไปขายต่างประเทศ 80% ของกำลังการผลิต ตลาดหลักคือ เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศใน CLMV และบริษัทเตรียมขยายตลาดไปยังตะวันออกกลาง สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดใหม่ ดังนั้นสินค้าจะต้องมีเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้สามารถขยายตลาดส่งออกได้กว้างขึ้น การขอเครื่องหมายฮาลาลไม่ยาก ทาง สกอท. มีข้อกำหนดที่ต้องปฎิบัติในกระบวนการผลิตให้ถูกต้องและจะมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ก็จะต้องทำให้เป็นไปตามมาตรฐาน
“แม้จะได้รับเครื่องหมายฮาลาลในประเทศไทยแล้ว เมื่อส่งออกก็จะต้องไปยื่นขอเครื่องหมายฮาลาลในประเทศที่เราส่งสินค้าไปจำหน่ายด้วยขณะนี้เรากำลังเจรจาส่งสินค้าไปจำหน่ายในมาเลเซีย หากลงนามในสัญญาซื้อขายแล้วเราก็จะต้องยื่นขอเครื่องหมายฮาลาลของมาเลเซียด้วยดังนั้นจึงอยากแนะนำให้ผู้ส่งออกศึกษาตลาดของประเทศคู่ค้าให้ดีว่ามีกฎระเบียบในการค้าอย่างไร”นางสาวปิยะรส กล่าว
ในขณะที่นางสาวจิตจริยา หอธรรม Managing Director บริษัท น้ำมันมะพร้าวไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะพร้าวปรุงอาหาร และน้ำมันมะพร้าวที่เป็นเครื่องสำอาง ส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศตามโมเดิร์นเทรดและแหล่งท่องเที่ยว และรับจ้างผลิตให้กับผู้นำเข้า อาทิ มาเลเซีย จีน เป็นต้น สินค้ายังไม่ได้จำหน่ายตรงให้กับประเทศมุสลิมแต่ได้ยื่นขอเครื่องหมายฮาลาลติดผลิตภัณฑ์ทุกชนิด เพราะเล็งเห็นว่า การมีเครื่องหมายฮาลาลทำให้สินค้าจำหน่ายได้ง่ายและตลาดกว้างขวางกว่า อีกทั้งพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยก็มีมากสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้อย่างสบายใจ หากมีความพร้อมทำแบรนด์สินค้าส่งออกก็สามารถทำได้ทันที โดยเฉพาะการเปิดตลาดในตะวันออกกลางหรือประเทศมุสลิม
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวอีกว่า ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าฮาลาลสำคัญ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2567 มีผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานฮาลาล 6,808 ราย โรงงาน 4,348 แห่ง และ 182,824 ผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล หรือ Halal Tourism เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนิยมเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก
นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้พักอาศัยในประเทศไทยเฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคน และจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ยราว 5 พันบาทต่อวัน ทำให้ Halal Tourism มีศักยภาพที่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งการเพิ่มการจ้างงานและการบริโภคสินค้าและบริการ ตลาดตะวันออกกลางและโลกมุสลิมมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูง แต่ผู้ประกอบการเองก็มีโจทย์และต้นทุนที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานฮาลาลเช่นกัน
ซึ่ง EXIM BANK พร้อมสานพลังกับหน่วยงานพันธมิตร ปั้นผู้ประกอบการไทยให้เป็น “Halal Champion” ส่งออกสินค้าฮาลาลสู่เวทีโลกผ่านการเติมความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายและมาตรฐานฮาลาล รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เติมโอกาสผ่านการจับคู่ธุรกิจหรือ Business Matching กับผู้ซื้อในต่างประเทศ และเติมเงินทุนผ่านสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายการลงทุน หากต้องการบริการทางการเงินตามหลักชาริอะฮ์สามารถติดต่อได้ที่ iBank ส่วนบริการสินเชื่อทั่วไปรวมถึงเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ติดต่อขอรับคำปรึกษาทางธุรกิจได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 EXIM BANK พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้อย่างมั่นใจ