สวทช.จับมือ บสย. ลงนามบันทึกข้อตกลง ดันแพลตฟอร์มเช็คลิสต์สุขภาพการเงิน ปลุกความพร้อมด้านนวัตกรรม หวังยกระดับ SMEs สู่อุตสาหกรรม 4.0
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช.ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านแพลตฟอร์มประเมินความพร้อมด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแพลตฟอร์ม บสย. SMEs Gateway ตรวจสุขภาพทางการเงิน และประเมินโอกาสธุรกิจ การเข้าถึงสินเชื่อ ผ่าน LINE OA @ tcgfirst ช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความรู้ความเข้าใจ และมีแนวทางในการลงทุนยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะเดียวกัน สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์การสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะ จึงได้จัดตั้งกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (NSTDA Core Business – Industry 4.0) ขึ้นในปี 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนับสนุนการพัฒนายกระดับสถานประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การดำเนินงานที่ผ่านมามีการประเมินระดับอุตสาหกรรมที่สายการผลิต โดยผู้ประเมิน Thailand i4.0 Index ไปแล้วกว่า 200 โรงงาน ล่าสุดในปี 2567 กลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ได้พัฒนาเว็บไซต์ i4Platform ที่มีระบบการประเมินแบบออนไลน์ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทำได้ด้วยตนเอง (Online Interactive Self-assessment) ที่มีชื่อว่า “Thailand i4.0 Checkup”
สำหรับการประเมินรูปแบบนี้เข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถรู้ผลได้ทันที โดยทราบแนวทางเบื้องต้นในการปรับปรุงยกระดับองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 ก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ บริการประเมินระดับอุตสาหกรรมที่สายการผลิตโดยผู้ประเมิน Thailand i4.0 Index
บริการทำแผนลงทุนสำหรับยื่นขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน บริการที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค บริการรับจ้างวิจัย บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตลอดจนบริการอื่น ๆ ผ่านแคมเปญที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างรวดเร็วนั้น คือ เงินทุน ซึ่งทาง สวทช. มีความยินดีที่ทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประเมิน Thailand i4.0 Index โดยนำผลการประเมินดังกล่าว มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินศักยภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการค้ำประกันสินเชื่อ
ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการดำเนินการได้ รวมถึงยังมีความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยการเพิ่มทักษะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้ามาใช้บริการในอนาคต และเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อประกอบการขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ระหว่าง บสย. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยใช้จุดแข็งและความพร้อมด้านแพลตฟอร์มการวิเคราะห์และประเมินผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ประเมินความพร้อมตัวเอง
ทั้งนี้ บสย. มีเครื่องมือการตรวจเช็คสุขภาพทางการเงิน ธุรกิจ พร้อมผู้เชี่ยวชาญประเมินความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมการขอสินเชื่อ ภายใต้กลยุทธ์องค์กร สู่การเป็น Digital SMEs Gateway บสย. จะเชื่อมโยง มิติการประเมินความสามารถทางการเงิน ร่วมกันสนับสนุน การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อใช้ร่วมกับการวิเคราะห์การค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม
นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดกลไกการพัฒนาต่อยอด Thaland i4.0 Index ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล มาตรการทางการค้า ข้อกฎหมายใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน บสย. พร้อมให้การค้ำประกันสินเชื่อ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ในโครงการ “บสย. SMEs ยั่งยืน” หรือ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว ร่วมกับ 18 สถาบันการเงิน ซึ่ง บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจกลุ่ม Green ด้วยวงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย และ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2-4 ปีแรก
อย่างไรก็ตามถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของทั้ง 2 หน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยยกระดับ SMEs สู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน คาดว่าจะมีผู้ประกอบการกว่า 600 โรงงาน ที่เตรียมตัวยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะมีความต้องการสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ คิดเป็นเม็ดเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท (เฉลี่ย 5.0 ล้านบาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้มากกว่า 14,000 ล้านบาท