ท่ามกลางวิกฤติทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงพร้อมกันทั่วโลก ทำให้หลายๆประเทศเริ่มประสบปัญหากันบ้างแล้ว อย่างที่เราได้เห็นจากการนำเสนอข่าวบนสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางการเงินของเพื่อนบ้านอย่างลาว หรือชาติตะวันตก ส่วนบ้านเราเองก็เริ่มเห็นเค้าลางความเศร้า ความเหงาหงอยจากภาคธุรกิจที่ออกมานั่งตบยุง ร้องโฮถึงความเงียบในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ราคาสินค้าและบริการกลับสูงขึ้นอย่างตรงกันข้าม
ล่าสุด มีงานเขียนในคอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก : กระแสออมเงินอย่างบ้าคลั่งในจีน โดยคุณนิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย ตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวอย่างนึงที่น่าสนใจในประเทศจีนคือเรื่อง Revenge Saving หรือ ‘ประหยัดล้างแค้น’ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอหยิบยกตัวอย่างเนื้อหาบางตอนที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง
เมื่อสมัยก่อน เทรนด์หรือไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นในจีน มักใช้ชีวิตแบบกินหรู อยู่แพง มีความลักชูฯ แบบลูกคุณหนูในเมืองใหญ่ หรือจัดเต็มแบรนด์เนมหัวจรดเท้า ชื่นชอบการอวดความรวยผ่านโลกโซเชียล แต่กลับกันสมัยนี้เด็กจีนเปลี่ยนแนวคิดแบบสลับด้าน เน้นโชว์อวดจน ยิ่งใช้เงินน้อยเท่าไหร่ ยิ่งถือว่าปังมากเท่านั้น
โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ คนจีนไม่สั่งอาหารเต็มโต๊ะเหมือนเดิม ผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คนจำนวนไม่น้อยนิยมสั่งอาหารจานเดียวและทานจนหมดจาน ถึงคราวจ่ายก็นิยมจ่ายแบบของตัวใครตัวมัน
อย่างภัตตาคารหรูประเภท finedining ซึ่งมักจะอยู่บนชั้น 6-7 ของอาคารสำนักงานในมหานครเซี่ยงไฮ้ต่างสงสัยว่า ลูกค้าที่เคยเต็มร้านหายไปไหนหมด พบว่าไปกินร้านอาหารชั้นใต้ดิน ซึ่งขายอาหารราคาถูกสำหรับพนักงาน เป็นเทรนด์ที่โซเชียลมีเดียเรียกว่าเศรษฐกิจ B1 B2 และเกิดแฮชแท็ก #YoungPeopleOnlyGoShoppingAtB1B2 ซึ่งหมายถึงคนหนุ่มสาวซื้อของที่ชั้นใต้ดิน (B1 หรือ B2) เท่านั้น
กระแส Revenge Saving มีทั้งแง่บวกและมุมลบ แง่บวกก็คือเยาวชนคนจีนมีเงินออมมากขึ้น ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทำให้ได้ดุลมโหฬาร แต่ในแง่เสียก็คือเงินไม่ไหลเวียน ใครได้เงินมาแล้วก็เก็บไม่นำออกมาใช้จ่าย ไม่นำออกมาลงทุน เรื่องนี้อันตรายอย่างมาก แม้แต่คนจีนในแผ่นดินจีนเองยังตามกระแสของคนจีนเองไม่ค่อยทัน ต้องปรับตัวและพัฒนาธุรกิจอยู่ตลอดเวลา นักธุรกิจต่างชาติที่มาลงหลักปักฐานในประเทศจีนที่ปรับตัวช้ามีความเสี่ยงสูงเช่นกัน