เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีการเผยผลทดสอบ “ชานม” ในระดับหวานน้อยจำนวน 15 ตัวอย่างในตลาด พบว่า แม้เราจะสั่งเครื่องดื่มในระดับหวานน้อยแล้วก็ตาม อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เจ็บป่วยหลายโรคขึ้นอีก เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และผลการศึกษาล่าสุด ยังพบว่าการดื่มชานมไข่มุกเป็นประจำเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ โรควิตกกังวล ซึมเศร้า แนะนำไม่ควรบริโภคจนหมดแก้วและไม่ควรบริโภคทุกวัน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำผลการตรวจสอบดังกล่าว มาให้ทุกคนได้พิจารณากัน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มตรวจวิเคราะห์ ชานมระดับความหวานน้อย เพื่อทดสอบว่าในระดับหวานน้อยได้ให้ปริมาณน้ำตาลที่ปลอดภัยหรือเป็นโภชนาการที่เหมาะสมกับร่างกายหรือไม่ โดยตรวจน้ำตาล 4 ประเภทคือ Fructoes, Glucose, Sucose, Maltose, Lactose จากจำนวน 15 ตัวอย่าง คือ
1.KOI The : 493.5 กรัม น้ำตาล 10.26 กรัม (2.5 ช้อนชา)
2.อินทนิล : 491.5 กรัม น้ำตาล 10.32 กรัม (2.5 ช้อนชา)
3.KAMU : 581.5 กรัม น้ำตาล 10.47 กรัม (2.6 ช้อนชา)
4.Ochaya : 538 กรัม น้ำตาล 11.30 กรัม (2.8 ช้อนชา)
5.Fuku MATCHA : 573 กรัม น้ำตาล 12.32 (3 ช้อนชา)
6.Kudsan : 557.5 กรัม น้ำตาล 14.55 กรัม (3.6 ช้อนชา)
7.MIXUE : 484.5 กรัม น้ำตาล 15.75 กรัม (3.9 ช้อนชา)
8.Nobicha : 566 กรัม น้ำตาล 16.30 กรัม (4 ช้อนชา)
9.OWL : 540 กรัม น้ำตาล 17.17 กรัม (4.2 ช้อนชา)
10.ชาตรามือ : 640.5 กรัม น้ำตาล 19.28 กรัม (4.8 ช้อนชา)
11.อาริกาโตะ : 544 กรัม น้ำตาล 19.37 กรัม (4.8 ช้อนชา)
12.เต่าบิน : 452 กรัม น้ำตาล 20.79 กรัม (5.1 ช้อนชา)
13.พันธุ์ไทย : 638 กรัม น้ำตาล 21.37 กรัม (5.3 ช้อนชา)
14.Monkey Shake : 561.5 กรัม น้ำตาล 24.20 (6 ช้อนชา)
15.คาเฟ่ อเมซอน : 609 กรัม น้ำตาล 32.16 (8 ช้อนชา)
จากผลการทดสอบปริมาณน้ำตาลในชานมระดับ “หวานน้อย” พบว่า ชานมไข่มุกในระดับหวานน้อยที่มีปริมาณน้ำตาล น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ KAMU ให้ปริมาณน้ำตาล 1.80 กรัม/ ปริมาณ 100 มิลลิลิตร บริโภคจนหมดแก้วจะได้รับน้ำตาล 10.47 กรัม เทียบได้เป็น 2.6 ช้อนชา โดยประมาณและชานมระดับหวานน้อยที่มีน้ำตาลมากที่สุด คือ ยี่ห้อ อเมซอน ให้ปริมาณน้ำตาล 5.28 กรัม/ ปริมาณ 100 มิลลิลิตร บริโภคจนหมดแก้วจะได้รับน้ำตาล 32.16 กรัม เทียบได้เป็นปริมาณน้ำตาล 8 ช้อนชา จากทั้งหมด 15 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบ
ค่าเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจะได้รับน้ำตาลเมื่อบริโภคชานมระดับหวานน้อยคือ 4.2 ช้อนชา เมื่อมองถึงสถานการณ์จริงที่ประชาชนจะบริโภคอาหารประเภทอื่นๆ อีกหลากหลาย การดื่มชานมไข่มุก ระดับหวานน้อยจึงยังทำให้ร่างกายได้น้ำตาลเกินความต้องการเพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม เท่านั้น ในปี 2567
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เผยว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลลดลง จาก 27 ช้อนชาต่อวัน เหลือ 23 ช้อนชาต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคน้ำตาลระดับดังกล่าวยังนับเป็นปริมาณที่สูงมาก ปัจจุบันประเทศไทยจึงมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ราว 400,000 คน ต่อปี คิดเป็น ร้อยละ 77 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลง เพราะน้ำตาลทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรค สำหรับเครื่องดื่มชานมไข่มุกกลับกำลังขยายตัว โดยคาดการว่า ในปี 2568 มูลค่าทางการตลาดของชานมไข่มุกทั่วโลก จะสูงถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 343,751 ล้านบาท ท่ามกลางงานศึกษาวิจัยใหม่ๆ ที่ได้ค้นพบอันตรายของชานมไข่มุกมากขึ้น ล่าสุดการศึกษาวิจัยในประเทศจีนและได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Journal of Affective Disorders พบความเชื่อมโยงมีนัยสำคัญระหว่างการบริโภคชานมเป็นประจำ กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการเป็นโรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าของเยาวชน คนรุ่นใหม่
อ่านผลการทดสอบชานมทั้งระดับหวานปกติ และ หวานน้อย ได้ที่เว็บไซต์ฉลาดซื้อ
ฉบับที่ 278 ผลทดสอบปริมาณน้ำตาลใน “ชานม” ที่ระดับหวานน้อย https://chaladsue.com/article/4581
ฉบับที่ 220 ผลทดสอบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และข้อมูลโภชนาการอื่นๆ ในเครื่องดื่ม “ ชานมไข่มุก ” https://chaladsue.com/article/3171