สุพรรณบุรี จ.ที่มีประวัติศาสตร์ ไกลก่อนยุคอยุธยา แดนประวัติศาสตร์ พระเครื่องลือชื่อ ตลาดชุมชน

0
245
kinyupen

สำหรับผู้ชื่นชอบกลิ่นอายของวัฒนธรรม ชุมชนท้องถิ่นและบรรยากาศเก่า สุพรรณบุรี คืออีกเมืองเก่าที่กิน-อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต อยากแนะนำด้วยเส้นทางที่ห่างจากกรุงเทพฯในรัศมี 100 กิโลเมตรเศษๆเท่านั้น

ภาพจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีต

สุพรรณบุรี กล่าวได้ว่าเป็นเมืองโบราณมีความเป็นมาและมีวัฒนธรรมต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี โดยมีเรื่องเล่าว่าที่มาของชื่อแต่เดิม คือ 2000 บุรี ด้วยครั้งบูรณะวัดป่าเลไลย์สมัยพระเจ้ากาแต (กษัตริย์ในยุคนั้นคาดว่าพื้นเพมาจากเมียนมาร์) ได้ชักชวนข้าราชการบวช 2,000 คน ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นสุพรรณบุรี ต่อมาสมัยพระเจ้าอู่ทองครั้งกรุงศรีอยุธยาสุพรรณบุรีได้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นคือเป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำที่มีความสมบูรณ์ และเมืองหน้าด่านที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ด้วยเป็นพื้นที่ยุทธหัตถีและพื้นที่เดินทัพสมัยพระนเรศวรมหาราช

ที่มา : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

หากในบทความจากวารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ของอาจารย์ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูลแห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประเทศไทย ได้นำเสนอเรื่องราวของสุพรรณบุรี ที่ขยายแง่มุมทางประวัติศาสตร์ของสุพรรณบุรี ที่น่าสนใจและสามารถเชื่อมโยงกับ เสภาขุนช้าง ขุนแผน เพราะกล่าวถึงพระมหากษัติรย์ “พระพันวษา” ซึ่งในความหมาย ก็คือ พันปี ที่จะเทียบเคียงกับจักรพรรดิจีน ที่จะเป็นพระหมื่นปี

เหตุที่กล่าวอ้างเทียบเคียงเพราะในบันทึกได้กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราธิราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ว่า ก่อนที่สมเด็จพระนครินทราธิราชจะขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเจ้านครอินทร์ครองเมืองสุพรรณบุรีและได้เคยเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิจีนถึง2 ครั้ง ทำให้ราชวงศ์หมิงรับสถานภาพของวงศ์สุพรรณภูมิเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อเจ้านครอินทร์ครองราชย์ ก็มีประกาศโองการตั้งเจ้านครอินทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์ในยุคนี้เองที่กษัตริย์แห่งสุพรรณบุรีได้เข้ายึดอำนาจที่กรุงศรีอยุธยา  ดังนั้นกษัตริย์ของไทยในยุคนั้นจึงเทียบชั้นเท่ากับ “ท่านอ๋อง” นี่จึงอาจเป็นที่มาของพระพันวษา

ที่มา : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

นอกจากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ปกครอง สุพรรณบุรียังมีศาสนาสถานที่ย้อนไปถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครวัด นครธม นั่นคือ เนินทางพระ หรือ ดอนทางพระ เป็นแหล่งศาสนาสถาน ตั้งอยู่บนเนินกลางทุ่งนาที่มีสระสี่เหลี่ยมโบราณอยู่ใกล้เคียง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสระห่างจากอำเภอสามชุกราวๆ 10 กิโลเมตร

เมื่อราว พ.ศ.2511 ชาวสามชุกไปขุดเอาพระพุทธรูปนาคปรกแบบลพบุรีที่ดอนทางพระมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดวิมลโภคาราม วัดใหม่ประจำเมืองของตลาดสามชุก ต่อมากรมศิลปากรจึงขุดเอาโบราณวัตถุที่เหลืออยู่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี

สำหรับเนินทางพระในปัจจุบัน หากผ่านไปอาจคาดเดาได้ยากเพราะพื้นที่ด้านหน้าถูกขนาบด้วยแปลงนาข้าว ส่วนด้านหลังเป็นสวนมะพร้าวทางเข้ายากที่จะเดินเข้าไปได้ถึง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะนานวันเข้า ศาสนาสถานแห่งนี้ในลัทธิมหายานแห่งนี้ ที่อาจเลือนหาย

ที่มา : komchadluek.net/amulet

“ไฮไลท์ของสุพรรณ ที่จะขาดเสียไม่ได้ คือพระเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระผงสุพรรณ ซึ่งถูกค้นพบในพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ โดยพระผงสุพรรณ มีพุทธคุณ ที่เป็นคุณวิเศษครอบจักรวาล จัดเป็นพระในชุดเบญจภาคี ากใครอยากไปชมองค์พระปรางค์ที่เคยบรรจุพระผงสุพรรณก็สามารถเดินทางมาได้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณฯ องค์พระปรางค์เป็นศิลปะการก่อสร้างในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา

พระขุนแผน ซุ้มบ้านกร่าง คืออีกไฮไลท์ ที่ขึ้นชื่อ เพราะมีพุทธคุณที่เป็นคุณวิเศษด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดคงกระพัน โดยวัดบ้านกร่าง ตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดศรีประจันต์  และมีสันนิษฐานว่า พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง น่าจะสร้างสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเดินทัพมาที่เมืองสุพรรณเพื่อสู้รบกับกองทัพพม่า

สำหรับผู้สนใจเที่ยวสุพรรณบุรี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีสถานที่แนะนำดังนี้

ท่านควรเดินทางออกจากกรุงเทพสายๆ หน่อย แล้วแวะทานอาหารกลางวันให้อิ่มท้องที่ ร้านบ้านขนมจีน โพธิ์พระยา กรณีที่ท่านอยากเปลี่ยนรสชาติจากกุ้งทอดเกลือร้านกุ้ยหมง จากนั้นเดินทางไปตลาดศรีประจันต์ ก่อนเข้าสู่ตลาดสามชุก ห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน ในอดีตตลาดสามชุกเป็นท่าเรือสำคัญ จึงกลายเป็นชุมชนที่มีการค้าขายสะท้อนวิถีของผู้คนในยุคก่อน สังเกตได้จากภายในตลาด มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุก (เหล่าปึงเถ่ากง) ที่ผู้สัญจรทางเรือและชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรให้เดินทางปลอดภัย เจริญรุ่งเรือง ซื้อง่ายขายคล่อง และ อยู่เย็นเป็นสุขและเป็นแหล่งชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้ที่นี่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยของกินในตลาดที่ขึ้นชื่อมีหลากหลาย ที่เป็นทั้งพื้นบ้าน และ สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

พาเที่ยวตลาดสามชุก

สิ่งที่น่าสนใจของตลาดนี้ และมีจุดเด่นที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยจีนของชุมชนคนสามชุก คือ หมี่กรอบ เป็ดพะโล้  ขนมสาลี่ ขนมตาล ขนมท้องม้วนโบราณ รวมถึงพวกปลาแห้ง ปลาต้มและร้านกาแฟหัวมุมที่ยังคงเป็นแหล่งชุมนุมพบปะ พูดคุยและที่พักร้อนของนักท่องเที่ยวต่างถิ่นพิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์ จีนารักษ์ ที่รวบรวมอดีตและประวัติของชุมชนแห่งนี้ ยังมีร้านขายอุปกรณ์ถ้วยชามแบบสมัยเดิม

ที่มา : Facebook Fan Page : Tripth ทริปไทยแลนด์

อย่างไรก็ตามในวันนี้ตลาดศรีประจันต์ และตลาดสามชุกที่มีจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนให้ความสนใจ และ ช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้ กำลังอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งหากตลาดวายหายไป คงน่าเสียดายยิ่งนัก

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here