สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เป็นเสมือน “เดอะแบก” ในปัจจุบัน อีกหน้าที่สำคัญ คือ การดูแลผู้สูงวัยในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย และแน่นอนทุกคนล้วนอยากดูแลให้ท่านแข็งแรงสมบูรณ์อยู่กับเราไปนานๆ วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำข้อมูลดีๆ จาก นายแพทย์ปีติ เนตยารักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี / Medical Advisor บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) มาฝาก
เชื่อหรือไม่ว่าอาการเล็กๆ อย่างหูตึงที่เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของวัยและไม่ใช่ปัญหาสุขภาพเร่งด่วนอะไร สามารถส่งสัญญาณเตือนสู่การเป็นสมองเสื่อมกันได้เลยทีเดียว ดังนั้นรู้ก่อน เช็คก่อน ป้องกันคนที่เรารักกันไว้ก่อนดีกว่า แต่จะต้องเฝ้าระวังยังไง ตรวจเช็คยังไง ขอพาไปดูกัน
นายแพทย์ปิติ ให้ข้อมูลว่า ตามสถิติ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจะมีปัญหาด้านการได้ยินอยู่ที่ร้อยละ 40-60 และเพิ่มสูงมากกว่าร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้การสื่อสารยากลำบากขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้มากกว่าที่คิด อย่างเช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงภาวะสมองเสื่อมหรือโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ปัญหาการได้ยินผิดปกติ แบ่งตามตำแหน่งของรอยโรคได้ 3 ประเภท
- ความผิดปกติของช่องทางการรับเสียง เช่น มีขี้หูอุดตันในรูหู การอักเสบในช่องหูชั้นนอก หรือ ช่องหูชั้นใน
- ความผิดปกติของเส้นประสาทการได้ยิน เช่น จากความเสื่อมตามธรรมชาติ การอักเสบของเส้นประสาทที่เกิดจากการติดเชื้อหรือจากยาบางชนิด เนื้องอกของเส้นประสาท หรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ความผิดปกติของสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับและแปลสัญญาณการได้ยิน เช่น ความเสียหายจากโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกหรือโรคสมองเสื่อมบางชนิดซึ่งทำให้แม้จะมีเสียงเข้ามา แต่สมองก็ไม่สามารถแปลผลออกมาเป็นการได้ยินได้ หรือแปลสัญญาณเสียงเข้ามาผิดเพี้ยนไปจากเดิม
สาเหตุการเกิดโรค
- “การใช้ชีวิตประจำวัน” ที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น การฟังเพลงเสียงดัง หรือ การทำงานกับเครื่องจักร เครื่องมือที่ส่งเสียงดังเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน
- “การใช้ยาที่มีผลข้างเคียงต่อการได้ยิน” (Ototoxic Medication) เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยาขับปัสสาวะบางชนิด แม้กระทั่งยาลดการอักเสบ หรือ ยาที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างแอสไพริน ก็มีรายงานว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาการได้ยินขึ้นได้
- “การติดเชื้อในช่องหู หรือ ระบบประสาทส่วนกลาง จากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือ เชื้อราบางชนิด” อาทิ แบคทีเรีย “สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส” (Streptococcus Suis) ที่มาจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก หรือ ใช้มีดหั่นเนื้อหมูดิบที่ปนเบื้อนเชื้อแล้วนำมาหั่นผัก แล้วเราก็กินผักสดที่ปนเบื้อนเชื้อนั้นเข้าไป
- “เกิดจากโรคประจำตัว” เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตไปยังเส้นประสาททำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้น
หูตึงก็สมองเสื่อมได้นะ?
มีการศึกษาที่พบว่า ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่ 2 ถึง 5 เท่า เพราะเมื่อสูญเสียการได้ยินสมองบางส่วนจะไม่ได้รับการกระตุ้น ขณะเดียวกัน สมองบางส่วนกลับต้องทำงานมากกว่าปกติเพื่อการรับรู้ข้อมูล ความไม่สมดุลกันของสมองทั้งสองส่วนในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงข่ายของประสาททั้งเชิงโครงสร้างและการทำงาน ซึ่งเป็นตัวเร่งความเสื่อมของเนื้อเยื่อสมองให้เร็วขึ้น ส่งผลทำให้ศักยภาพของสมองลดลง
ขณะที่ในแง่ของจิตใจ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกกดดัน หงุดหงิด ผิดหวัง นำไปสู่ภาวะเครียดและซึมเศร้าได้ ซึ่งเป็นเหตุที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน รวมถึงผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะสมองเสื่อมอยู่แล้วก็จะยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น
ดังนั้น เมื่อใดที่เริ่มผู้สูงวัยในบ้านบ่นถึงปัญหาการได้ยินที่ผิดปกติ หรือ ญาติเริ่มสังเกตเห็น อย่าเพิ่งละเลย หรือ ปล่อยไว้นาน ควรพามาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพื่อหาตำแหน่งที่ผิดปกติ เพราะความผิดปกติในการได้ยินบางอย่างสามารถรักษาให้หายหรือดีขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้สูงอายุชอบพูดเสียงดัง ทำยังไงดี
อย่าชะล่าใจ “โรคสมองเสื่อม” เกิดได้ในวัยทำงาน
เกร็ดน่ารู้
- มีการศึกษาที่พบว่าอุปกรณ์ช่วยการได้ยินต่างๆ สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เกือบ 20%
- การพูดคุยกันก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเยียวยารักษาทางจิตใจของผู้ป่วย โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมที่อาจจะช่วยให้การสนทนากับผู้สูงวัยที่มีปัญหาการได้ยินเป็นไปอย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่
- เลือกสถานที่เงียบๆ เวลาพูดคุยกัน
- มีแสงสว่างเพียงพอเพื่อให้สามารถมองเห็นหน้ากันได้ชัด
- ถ้าเป็นไปได้ให้ผู้ฟังได้เห็นปากของเราด้วย เพื่อช่วยให้สามารถอ่านริมฝีปากได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยก็ไม่เป็นไร
- พยายามสบตาเสมอเวลาพูดคุย เพื่อให้ผู้สูงวัยรู้ว่าเรากำลังคุยกับท่าน
- พูดช้าๆ ใช้เสียงที่ดังขึ้นเล็กน้อย (ไม่ถึงกับตะโกน) และใช้โทนเสียงที่ต่ำ
- อาจจะต้องพูดซ้ำหลายครั้ง
- ลองเปลี่ยนไปใช้คำง่ายๆ คำอื่นแทน เหมือนเวลาที่คุยกับเด็ก อาจจะทำให้ผู้ป่วยฟังเข้าใจได้มากขึ้น
- หากพูดคุยกันหลายคน ขอให้พูดทีละคนและไม่พูดแทรกกันไปมา
- ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเรายินดีคุยกับเขา ไม่แสดงทีท่าหงุดหงิด เบื่อหน่าย หรือท่าทางที่ไม่อยากสนทนาต่อ เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกผิด น้อยใจจนไม่อยากคุยกับใครอีก