สูงวัยไทย อาศัยคนเดียวมากขึ้น เสี่ยง “ตายโดดเดี่ยว” เหมือนญี่ปุ่น

0
173
kinyupen

เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”​ (Aged Society) ซึ่งข้อมูลอัพเดต ณ สิ้นปี 2566 ไทยมีประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็นสัดส่วน 20.08% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ตรงตามนิยาม “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”​ ซึ่งหมายถึงมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 20% ขึ้นไป 

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีความกังวลในกลุ่มของสังคมสูงวัย คือ ผู้สูงวัยจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว หรืออาศัยอยู่ในบ้านที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างเลี่ยงได้ยากที่พวกเขาจะกลายเป็น “ผู้สูงวัยที่มีความเปราะบาง” ทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อีกทั้ง มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะมีจุดจบเป็นการ “เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว” โดยปรากฏการณ์เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครพบเห็น เกิดขึ้นมากในสังคมที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเพราะมีวัฒนธรรมชอบอยู่ตัวคนเดียว หรือเพราะไม่มีครอบครัวหรือมีครอบครัวแต่ถูกคนในครอบครัวทอดทิ้ง 

ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในญี่ปุ่นเกิดปรากฏการณ์ผู้สูงอายุเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวปีละจำนวนมากต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า “โคโดคุชิ” (Kodokushi) 

ล่าสุด มีข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น (NPA) พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวจำนวน 17,034 ราย และคาดว่าทั้งปี 2567 นี้ จะมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตรวม 68,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในสัดส่วนที่สูง 

เมื่อเห็นข้อมูลของญี่ปุ่นแล้วหันมามองดูประเทศไทยเราเองว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ก็พบว่า สถานการณ์ของไทยเราก็น่าห่วงเช่นกัน เพราะไทยมีประชากรผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่มากกว่า 1.3 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ) โดยกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหลัก คือ “ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง” ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวน 1,348,397 คน คิดเป็นสัดส่วน 10.32% ของผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศไทย สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วน 7.3% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

มีข้อมูลเชิงสถิติเผยให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพังคนเดียว และผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

มีงานวิจัยเรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อประเมินความเข้มแข็งและความต้องการสนับสนุนของครัวเรือน” จัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ผู้สูงอายุในเขตเมืองอาศัยอยู่คนเดียวมากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท ส่วนภูมิภาคที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรสโดยไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยมากที่สุด คือ ภาคเหนือ 

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังคนเดียวหรืออาศัยอยู่เฉพาะกับผู้สูงอายุด้วยกันนั้นต้องการการดูแลทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งหากประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ได้ดีพอ ก็น่าจะคาดหวังได้ว่าผู้สูงอายุในไทยคงไม่ถูกปล่อยให้ “ตายอย่างโดดเดี่ยว” เป็นจำนวนมากนัก

ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติ

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here