ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ “จุลินทรีย์” เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ซึ่งปกติจะมีอยู่ในร่างกายมนุษย์จำนวนมหาศาลทั้งที่ผิวหนัง ปอด ช่องปาก ตั้งแต่หลอดอาหารถึงทวารหนักและช่องคลอด กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ กลายเป็นสิ่งที่ผู้รักสุขภาพให้ความสนใจกันมากขึ้น โดย กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พบว่า มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจำนวนมากที่อ้างอิงข้อมูลถึงประโยชน์หลากด้านของจุลินทรีย์ อาทิ ช่วยย่อยอาหารโดยเฉพาะไฟเบอร์และน้ำตาล ช่วยป้องกันอาการท้องอืด ปวดท้อง การช่วยสังเคราะห์วิตามิน เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสร้างสารเคมีที่จำเป็นต่อระบบประสาท

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าร่างกายเราจะมีแต่จุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ หากจุลินทรีย์บางชนิดก็ก่อให้เกิดผลเสียเช่นกันถ้ามีมากเกินไป เพราะก็จะทำให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ นำไปสู่โรคต่างๆ ทั้งโรคของระบบลำไส้โดยตรง เช่น ลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ โรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอ้วน รวมถึงโรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) เป็นต้น

ดังนั้น กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอนำ 4 แนวทางการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายมาฝากกัน ซึ่งเราสามารถทำได้ไม่ยากในชีวิตประจำวัน
- รับประทานจุลินทรีย์ดีโดยตรง ซึ่งเราจะรู้จักอาหารกลุ่มนี้กันในชื่อ โพรไบโอติกส์ (Probiotics)เป็นอาหารที่ผ่านการหมักมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต และที่ไม่ใช่นม เช่น กิมจิ ถั่วนัตโตะ ซุปมิโซะ โดยแนะนำให้รับประทานสลับไปมาหลายๆ ชนิด เพราะโพรไบโอติกส์แต่ละอย่างมีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์แตกต่างกันทั้งสายพันธุ์และปริมาณ
- รับประทานอาหารที่มีอาหารของจุลินทรีย์ดี อาหารกลุ่มนี้เรียกว่า พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ประกอบไปด้วยใยอาหารและน้ำตาลบางชนิด ได้แก่ ผัก ถั่วและธัญพืชต่างๆ เช่น มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดม่วง กระเทียม หอมหัวใหญ่ มันแกว รวมถึงข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง หรือ ผลไม้อย่างกล้วย ฝรั่ง แอปเปิ้ล อะโวคาโด ก็มีสารที่เป็นพรีไบโอติกส์อยู่เช่นกัน
- เลี่ยงพฤติกรรมที่จะลดจุลินทรีย์ดี อาทิ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ที่แค่ดื่มเกิน 100 มล. ก็มีผลให้จุลินทรีย์ดีลดลงได้แล้ว เลี่ยงการทานอาหารกึ่งสำเร็จเพราะมีสารถนอมอาหารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่มีผลต่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรใช้เท่าที่จำเป็นตามที่คำสั่งแพทย์ เพราะตัวยาจะมีผลฆ่าทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดีและดีไปด้วยกัน
- ส่งเสริมพฤติกรรมที่เพิ่มจุลินทรีย์ดี ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และการจัดการความเครียด เพราะผลของกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพเหล่านี้ ช่วยในการปรับสภาพร่างกายให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังเป็นการกระตุ้นให้มีการดูดซึมและเผาผลาญสารอาหารบางชนิดที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ก่อโรคต่างๆ อีกด้วย

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจาก นายแพทย์ปีติ เนตยารักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลธนบุรี / Medical Advisor บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)
บทความที่เกี่ยวข้อง
> 100+ EP39 : ฆ่า “เชื้อโรค” = ฆ่าตัวเอง
> รวมสุดยอดอาหารสร้างอารมณ์ดี และ 3 อาหารที่ทำให้คุณรู้สึกแย่