ผีอำ ! บ่อยๆ ต้องไปสะเดาะเคราะห์หรือ “หาหมอ”

0
263
kinyupen

ถ้าพูดถึงอาการที่หลังจากหลับไปแล้ว แล้วจู่ๆ เราตื่นลืมตาขึ้นมา แต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย ยกเว้นการได้ยินเสียง บางคนอาจมีอาการแน่นตรงหน้าอกหรือตามส่วนอื่นของร่างกาย คล้ายๆเหมือนโดนเหยียบ มีอะไรมากดทับ อาการแบบนี้ เราเรียกกันว่า “ผีอำ” หรือโดนอำ บางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการไปทำบุญ สะเดาะเคราะห์ เพื่อความสบายใจ และหลายๆคนก็อยากรู้เหตุผลทางหลักวิทยาศาสตร์ว่ามันเกิดมาจากสิ่งใด วันนี้ กินอยู่เป็น 360  องศาแห่งการใช้ชีวิต จะมาช่วยไขคำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ให้กระจ่าง สว่างใส สบายใจกันสักหน่อย …. อย่างน้อยก็ยังดี  

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี

เฟซบุ้ก แฟนเพจ :  หมอหมู วีระศักดิ์ หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่อง “ผีอำ” ที่น่าสนใจไว้ว่า ผีอำ (Sleep paralysis) เป็นอาการหนึ่งของ โรคลมหลับ (Narcolepsy) ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น ซึ่งมักทำให้เกิดความวิตกกังวลและตกใจ แต่ขอเรียนว่าไม่อันตราย เพียงแต่หากเป็นบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษานะครับ

โรคลมหลับ เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และหลับในช่วงเวลาต่างๆ อย่างผิดปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างมาก อาจเกิดการหลับในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมและอันตรายได้ เช่น ขับรถ หรือกำลังทำงานที่มีความเสี่ยง

สาเหตุของโรคลมหลับ ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการขาดสารสื่อประสาทที่เรียกว่าไฮโปครีติน (hypocretin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตื่นและหลับ การขาดสารนี้อาจเกิดจากการแพ้ภูมิตัวเอง การบาดเจ็บสมอง การติดเชื้อ หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน หรือความเครียด

อาการของโรคลมหลับ ประกอบไปด้วย

1. ง่วงนอนมากผิดปกติ

2. ผล็อยหลับบ่อยๆ

3. ผีอำ ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น

4. เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ โดยอาจเห็นเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่างๆ ได้

ในปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติได้

เป็นยังไงบ้าง หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ลองประเมินดูว่าเรามีความถี่ในการโดนผีอำหรือโรคลมหลับ มากน้อยแค่ไหน หากนานๆทียังไม่เป็นไร แต่ถ้าใครมีอาการแบบนี้บ่อยๆ แนะนำปรึกษาแพทย์ดีกว่า

อ้างอิงข้อมูลจาก: ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here