Digital Nomad ที่ทำงาน ที่เที่ยว ที่เดียวกัน เทรนด์ที่กำลังมาแรง

0
527
kinyupen

โควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมนุษย์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่  ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ การสวมแมสก์ ล้างมือแทบจะตลอดเวลา รวมไปถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างพฤติกรรมการท่องเที่ยวก็เปลี่ยนแปลงไป

3 ปีของการถูกจำกัดให้อยู่แต่บ้าน ความเบื่อบ้าน ความอยากเที่ยว ก่อให้เกิดพฤติกรรมการเที่ยวล้างแค้น (Revenge Travel) การออกเดินทางท่องเที่ยวแบบปลดปล่อยความอัดอั้นจากการไม่ได้เที่ยวต่างประเทศมานานถึง 3 ปี

ขณะเดียวกัน โควิด-19 ก็ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย

หนึ่งในนั้นที่เริ่มแพร่หลาย และเป็นที่นิยมกันมากขึ้น คือ Digital Nomad

Digital Nomad หมายถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมกับทำงานไปด้วย เพียงแค่มีโน้ตบุคเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต  ก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เรียกว่า เป็นอาชีพที่มีความอิสระ อาชีพในดวงใจของคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล ก็ว่าได้

บทวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า  คำว่า “Digital Nomad” เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก โดยคำว่า “Digital Nomad” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2540 จากหนังสือเรื่อง A Brief History Of Digital Nomading โดย Tsugio Makimoto และ David Manners โดยเป็นคำจำกัดความของคนกลุ่มหนึ่งที่มีอาชีพรับงานจากประเทศที่มีอัตราค่าจ้างที่สูง แล้วเลือกมาใช้ชีวิตในประเทศที่มีอัตราค่าครองชีพต่ำกว่า แต่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และมีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วระดับหนึ่ง

ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพในฝันของคนเจนวาย และเด็กรุ่นดิจิทัล ที่ชอบงานที่มีอิสระในการใช้ชีวิต เพราะได้ท่องเที่ยวทุกครั้งที่ต้องการ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดนในปัจจุบัน ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์แบบ Digital Nomad กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นักท่องเที่ยวกลุ่ม “Digital Nomad” เป็นกลุ่มคนที่ทำงานหารายได้ผ่านระบบ Online จากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกตามวิถีชีวิตที่แต่ละคนต้องการ พร้อมทั้งเดินทางท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย โดยจะพำนักในแต่ละแห่งเป็นการชั่วคราวและจะย้ายไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งสอดรับกับรูปแบบการทำงานให้ยุคหลังโควิด  ที่หลายองค์กรยังคงนโยบายให้พนักงานทำงานในรูปแบบ Remote Work ซึ่งเป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์จากสถานที่ใดก็ได้ (Work from anywhere) โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเหมือนในอดีต หรือบางบริษัทอาจอยู่ในลักษณะ Hybrid Work ซึ่งเป็นการผสมระหว่าง Remote Work และการทำงาน ณ สำนักงานเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างของบริษัทชื่อดังที่มีการใช้ระบบ Remote/Hybrid Work เช่น Google, Apple, Microsoft, Facebook และ Twitter ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจพนักงานรุ่นใหม่กว่า 22,000 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลกของ Deloitte ที่พบว่าปัจจุบันมีพนักงานราว 55-61% ที่ทำงานอยู่ในรูปแบบ Remote/Hybrid Work และมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกตามความต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของพนักงานในอนาคต 

ปัจจุบัน Digital Nomad ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

 1) Freelance คือ ผู้ที่ทำงานอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใด และรับงานเป็นรายครั้ง

 2) Remote Worker คือ ผู้ที่เป็นพนักงานประจำในบริษัทฯ ที่ทำงานนอกสำนักงานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

และ 3)Entrepreneurs คือ กลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ

กลุ่มคนใน Digital Nomad ส่วนใหญ่จะเป็นชาวอเมริกันเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 48% ของกลุ่ม Digital Nomad ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (7%) รัสเซีย (5%) แคนาดา (4%) และเยอรมัน (4%) และส่วนใหญ่จะเป็นชาวมิลเลนเนียล (Millennials) หรือกลุ่ม Gen Y  โดยกว่า 83% จะประกอบอาชีพอิสระ  ซึ่งอาชีพที่พบได้มากที่สุดคือ งานด้านคอมพิวเตอร์/ไอที นักการตลาด งานออกแบบ นักเขียน และงานด้าน E-Commerce

สถานที่ที่นิยมใช้เป็นที่ทำงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) กลุ่มที่ต้องการเสียงและบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน จะเลือกทำงานใน Co-working Space เป็นหลัก

2) กลุ่มที่ต้องการความเงียบสงบในการทำงานจะเลือกทำงานในที่พักอาศัยเป็นหลัก

ส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของกลุ่ม Digital Nomad จะมีงบประมาณในการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 62,000 บาทต่อเดือน โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมืองหรือประเทศที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ต่อไป

ทำเลเป้าหมายของกลุ่ม Digital Nomad ต้องมีข้อเด่นอยู่ 5 ประเด็นหลัก

 ซึ่งแน่นอน ข้อแรกและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ อินเทอร์เน็ตต้องแรง ค่าครองชีพต้องถูก  

2) ความปลอดภัย  

3) แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ (11%)

4) วีซ่าที่เหมาะสม  

5) ร้านกาแฟ/Co-working Space

ยังไม่มีข้อมูลมากนักว่า คนไทยที่โชคดีอยู่ในกลุ่ม Digital Nomad มีวิถีชีวิตที่น่าอิจฉา แบบเที่ยวด้วยทำงานไปด้วย มีมากน้อยแค่ไหน

แต่ที่มีข้อมูล คือ ประเทศไทย ติดอยู่ในกลุ่มที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad

โดยสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดของชาว Digital Nomad ประจำปี 2566 ของ ETHRWorld มี กรุงเทพ ติดอันดับ 2  ขณะที่อันดับ 1 คือ เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส 

ส่วนผลการจัดอันดับเมืองที่ดีสุดในเอเชียสำหรับชาว Digital Nomad ของ http://nomadlist.com พบว่า ประเทศไทยติดอันดับท็อปเทน ถึง 3 แห่ง ได้แก่ 1. เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) 2. กรุงเทพฯ (อันดับ 2) 3. จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9)

ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ไทยจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านนี้เพื่อไขว่คว้าโอกาสจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่มีจุดเด่นในเรื่องระยะเวลาพำนักในไทยที่ค่อนข้างนาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปสูงกว่านักท่องเที่ยวโดยรวมอย่างชัดเจน

คำถาม คือ แล้วเราต้องทำตัวอย่างไรดี ถึงจะเป็นที่รัก ที่คิดถึง เป็นเป้าหมายที่พักสำหรับชาว Digital Nomad 

สิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ ดึงดูดให้ Digital Nomad เข้ามาพำนักแบบยาว ๆ  มีอยู่ 3 เรื่องสำคัญ คือ

1.วีซ่า หรือการอนุญาตให้ Digital Nomad แบบเฉพาะเจาะจง  ซึ่งรัฐบาลไทยได้อนุมัติการออก Long-Term Resident Visa (LTR) โดยให้สิทธิพำนักในประเทศไทยได้ถึง 10 ปี พร้อมได้ใบอนุญาตทำงานควบคู่ไปด้วย แต่มีข้อสังเกตว่า LTR Visa ของไทย  มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขในการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของ Work-From-Thailand Professional ที่กำหนดไว้ที่ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 230,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่ต้องการช่วงชิงนักท่องเที่ยวกลุ่ม digital Nomad เช่น โปรตุเกส กำหนดรายได้ขั้นต่ำสำหรับผู้ขอวีซ่า Digital Nomad ไว้เพียงประมาณ 2,800 ยูโรต่อเดือน หรือประมาณ 105,000 บาทต่อเดือน

สเปน กำหนดรายได้ขั้นต่ำสำหรับผู้ขอวีซ่า Digital Nomad ไว้ที่ 200% ของเงินเดือนขั้นต่ำของสเปน หรือประมาณ 2,200 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 82,000-83,000 บาทต่อเดือน)

 เม็กซิโก กำหนดรายได้ขั้นต่ำสำหรับผู้ขอวีซ่า Digital Nomad ไว้ที่ 1,620 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 55,000-57,000 บาทต่อเดือน

ดังนั้น หากภาครัฐผ่อนปรนเรื่องรายได้ขั้นต่ำ รวมถึงปรับลดรายได้ขั้นต่ำของบริษัทนายจ้างลง ก็จะทำให้ไทยมีความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ได้มากขึ้น  

2.เรื่องภาษี ซึ่งแน่นอนว่า การเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีต่างชาติที่มาพำนักในประเทศ จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชาว Digital Nomad เลือกประเทศที่เรียกเก็บภาษีที่ถูกกว่า  ดังนั้น  การให้สิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับ Digital Nomad จะจูงใจได้อีกทางหนึ่ง

3.การอำนวยความสะดวกในด้านต่าง เช่น การส่งเสริมด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้มีเพียงพอ  สถานที่ทำงานอย่าง Co Working Space ที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้  รวมถึงการดูแลความปลอดภัยคนต่างชาติเป็นพิเศษ เป็นต้น

ถ้า Digital Nomad มีเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวไทยก็จะเฟื่องฟูตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืม สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กไทยสนใจอาชีพที่ไปสู่การเป็น Digital Nomad แบบจริง ๆ จัง ๆ

เพื่อให้ไทยไปสู่ Digital Society เสียที

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here