จากโคบอลต์-60 ถึงซีเซียม-137 บทเรียนกัมมันตรังสีสุดอันตราย

0
843
kinyupen

จากกรณีที่ วัตถุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ สูญหาย ที่ จ.ปราจีนบุรี กระทั่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ได้สั่งกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมผู้เชี่ยวชาญ-สถานพยาบาล รองรับและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม  แม้ยังไม่พบข้อมูลวัสดุหลุดออกจากเครื่องกำบัง  แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า จะไม่เกิดอันตรายขึ้น จนกว่าจะพบกับวัตถุตัวนี้

อันดับแรกต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า กัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ ตัวนี้ ถูกบรรจุอยู่ในแท่งเหล็ก เป็นท่อบรรจุสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-137 ที่ใช้เป็นอุปกรณ์วัดระดับขี้เถ้าในโซโล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566

ความกังวลใจที่เกิดขึ้นคือ  เกรงว่า ผู้ที่ไม่ทราบว่าภายในแท่งเหล็กนี้มีสารกัมมันตรังสีอยู่ และนำไปผ่า เพื่อเอาเหล็กไปขายดังที่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วเมื่อปี 2543 กับกรณี โคบอลต์ -60 ที่มีคนตาย คนเจ็บ และเจ็บป่วยระยะยาวอีกจำนวนมาก

วันนี้ ทีมงานแอดมิน “กินอยู่เป็น” จะมาย้อนอดีตให้อ่านกัน  โดยสรุปเป็นข้อๆ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจดังนี้

1. ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตภาพรังสี หากสัมผัสจะป่วยร้ายแรงและเกิดมะเร็งในระยะยาว

2. แท่งบรรจุสารตัวนี้ หายไป จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม)

3. เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) / ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี /ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ต่างร่วมมือกันค้นหาอย่างหนัก ตามร้านรับซื้อของเก่าภายในจังหวัดปราจีนบุรีไปแล้วกว่า 20 แห่ง  มีการตั้งรางวัลนำจับ แต่ยังไม่มีวี่แวว

4.เหตุที่ต้องเร่งค้นหา เพราะเกรงว่า ร้านรับซื้อของเก่าจะนำท่อบรรจุสารไปผ่า และจะมีสารกัมมันตรังสีแผ่กระจายออกมาโดยไม่รู้ตัว

5.มีรายงานข่าวว่า ที่ร้านล้างรถแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ได้ล้างรถกระบะคันหนึ่ง เป็นของ รปภ.บริษัทหนึ่ง  และพบว่ามีวัตถุต้องสงสัยอยู่  เจ้าหน้าที่ ตามหาตัว รปภ.จนพบ ก็แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบครองวัตถุดังกล่าว (ข่าววันที่ 17-18 มีนาคม จากเพจข่าวช่องOne)

6.เหตุการณ์ที่หลายภาคส่วนกังวล เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2543 กับกรณีโคบอลต์-60

7. เหตุการณ์เมื่อปี 2543 เริ่มจากผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง นำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ซึ่งมีสเตนเลสและตะกั่วห่อหุ้ม ออกจากลานจอดรถรกร้างใน จ.สมุทรปราการ นำไปขายร้านซื้อของเก่า

8.ทางร้านได้แยกชิ้นส่วนสเตนเลสและตะกั่วออกมาได้ เหลือเพียงสารโคบอลต์ 60 โดยไม่ทราบว่ามีการแผ่กัมมันตภาพรังสีออกมาตลอดเวลา

9.ต่อมา คนงานในร้านที่ร่วมกันแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีดังกล่าว มีอาการผิวคล้ำ ปากเปื่อย ผมร่วง มือบวมพอง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย จนต้องนำส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ และตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

10.บทสรุปของความสูญเสียและเสียหายในครั้งนั้น  มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 10 ราย บางรายพิการ ขณะที่หญิงมีครรภ์บางรายต้องทำแท้ง เพราะตรวจเลือดพบความผิดปกติและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน 

11.เหตุการณ์ดำเนินเรื่อยมาสู่การฟ้องร้อง กระทั่งศาลมีฎีกามีคำพิพากษา ตัดสิน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ให้จำเลย จ่ายค่าเสียหายรวมค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 529,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (โจทก์   คือคนที่ได้รับผลกระทบที่ยื่นฟ้อง  ส่วนจำเลย คือ   ผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งชาติ (พป.) ตามกฎหมาย และยังกระทำประมาทเลินเล่อไม่จัดเก็บเครื่องฉายดังกล่าวให้ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำหนด โดยนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ทิ้งไว้ในโรงรถเก่าตั้งอยู่ย่านพระโขนง กทม.ส่งผลให้มีคนภายนอกนำเอาชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสี คือ แท่งตะกั่วบรรจุสารโคบอลต์ ไปขาย)

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกา จากเว็บไซต์ข่าว เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559

12.  นี่คือที่มาของการที่เจ้าหน้าที่เร่งปูพรมหาท่อบรรจุสารซีเซียม-137 นี้อย่างหนัก

13.ทั้งนี้ ผู้ใดที่พบเห็นวัตถุต้องสงสัย หรือวัตถุที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ โปรดหลีกเลี่ยงการสัมผัสและเข้าไปอยู่ใกล้ชิดและรีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร.1296

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here