สูงวัยใจเกินร้อย : ในวันที่ไร้สวัสดิการและเงินออม

0
1323
kinyupen

“ผมไม่ได้นั่งรอเงินคนแก่จากรัฐ หรือรอให้รัฐมาช่วยเหลือ อยากทำงานด้วยตนเอง  หาเงินด้วยตัวเอง ขอให้มีงานผมสบายใจ “   ลุงฉลองวัย 80 ปี  กล่าวในขณะที่กำลังเก็บกวาดใบไม้และขยะริมคลองมีนบุรีใน”โครงการจ้างวานข้า”ของมูลนิธิกระจกเงา 

ลุงฉลอง เป็นคนไร้บ้านมากว่า 10 ปี จนกระทั่งรู้จักโครงการจ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงา  ที่ไปแนะนำงานให้คนไร้บ้านที่บริเวณย่านราชดำเนิน

“ตอนนี้ผมมีห้องเช่าอยู่ และรับลูกสาวพิการ วัย 40 ปีมาอยู่ด้วย   แม้เป็นห้องเช่าเล็กๆ ผมก็ภูมิใจ ที่ไม่ต้องเร่ร่อนนอนในที่สาธารณะ  “

“ขอแค่มีงานทำ จ่ายค่าห้อง ค่าข้าว ได้ดูแลลูกสาว ก็พอใจแล้ว จะทำจนกว่าจะหมดแรง ตอนนี้ยังมีแรงอยู่ ผมไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ สุขภาพแข็งแรง น่าจะทำงานได้อีกหลายปี ” ลุงฉลองกล่าว

ลุงฉลอง เป็นคนที่ได้งาน จากโครงการจ้างวานข้า มากที่สุดคือจำนวน 4 วันต่อสัปดาห์  โดย เบญจมาศ พางาม ผู้ประสานงานโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา  บอกว่า จะดูจากความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน และความรับผิดต่องาน อย่างลุงฉลอง ต้องจ่ายค่าห้องและดูแลลูกสาวที่ช่วยเหลือตัวเองไมได้ ทางโครงการจึงให้งานทั้ง 4 วัน ค่าจ้างวันละ 400 บาท

ในโครงการฯแรงงานที่อายุมากที่สุดคือ 82 ปี ซึ่งทางโครงการฯให้ทำงานคัดแยกสิ่งของที่คนเอามาบริจาคที่มูลนิธิกระจกเงา เนื่องจากออกมาทำงานข้างนอกไม่ไหว

ปัจจุบันมีแรงงานในโครงการฯ 114 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ  อายุเฉลี่ย 65-82 ปี  และส่วนใหญ่จะเป็นคนไร้บ้านและคนจนเมือง และคนที่อยู่ห้องเช่าราคาถูก

เบญจมาศกล่าวว่า โครงการฯเปิดรับสมัครงาน ทุกจันทร์แรกของเดือน  ที่สนามหลวงและที่มูลนิธิฯ ซึ่งจะมีทีมงานสัมภาษณ์เบื้องต้น โดยคนที่มาสมัครส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรือบางคนเป็นคนไร้บ้านที่ต้องการงานเพื่อไปเช่าบ้าน หลังจากสัมภาษณ์ก็จะนัดหมาย เพื่อเยี่ยมพื้นที่สาธารณะที่เขาอยู่ หรือห้องเช่า  หลังจากนั้นก็ทำข้อตกลงกับเขา ถ้าเขาบอกว่าอยากจะหาห้องเช่า เราก็จะให้งานเขาเพิ่ม เราจะดูด้วยว่ามาแล้วทำงานได้หรือไม่ และขยันหรือไม่  และต้องยอมรับกฏ กติกาของเรา

“กลุ่มคนจะหมุนเวียนมาเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ  มีบางคนที่กลับไปอยู่บ้านหรือได้งานใหม่ หรือบางคนหายไปเฉยๆ โดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ  เราเปิดพื้นที่ให้งานกับเขา ส่วนเรื่องการเช่าที่อยู่อาศัยเขาจะเก็บเงินจากการทำงานเพื่อไปเช่าที่อยู่อาศัยเอง  “ เบญจมาศ กล่าว

งานส่วนใหญ่จะเป็นงานทำความสะอาดที่สาธารณะ เก็บขยะ กวาดใบไม้ หรือตัดติ่งกิ่ง โดยโครงการฯร่วมมือกับสำนักงานเขตในกทม. ทั้ง 50 เขต  ทำงานวันอังคาร-ศุกร์

ลุงฉลอง ไม่คิดมาก่อนว่าเขาจะเป็นคนไร้บ้าน ก่อนหน้านี้ เขาทำงานที่บริษัทสิ่งพิมพ์แห่งหนึ่ง ในแผนกแยกสี มานานกว่า 30ปี มีภรรยาและมีลูก4 คน เขาไม่เคยมีบ้านของตัวเอง บ้านที่อยู่อาศัยก็เป็นของพ่อตา แม่ยาย   

เขาได้เงินหลังจากเกษียณมาก้อนหนึ่ง แต่ก็เป็นจำนวนที่ไม่มากในขณะที่มีค่าใช้จ่ายต้องจ่ายทุกวัน

หลังภรรยาเสียชีวิตไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา  ฉลองจำเป็นต้องย้ายออกจากบ้านหลังนั้นและฝากลูกสาวให้ญาติช่วยดูแล และมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

“ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ 10 ปีแล้ว ที่นอนตามที่สาธารณะต่างๆ “ ฉลอง กล่าว

ลุงฉลอง ใช้ชีวิตตามที่สาธารณะ หารายได้จาก การนำข้าวสารที่ศาลเจ้าแจกฟรี ไปขาย ซึ่งศาลเจ้าจะแจกครั้งละถุง ถุงละ 5 กิโลกรัม นำไปขายได้เงิน 70-80 บาท เดือนหนึ่งอาจจะไปรับสัก 3-4 ครั้ง  หรือ 3 วัน ไปรับก็ได้

นอกจากนี้ยังรับงานโบกธง ตามถนน ที่โครงการบ้านจัดสรร เปิดโครงการใหม่  ราย ได้วันละ 400 บาท ทำตั้งแต่ 9 โมง ถึง4โมงเย็น

“ ทำมา 2-3 ปี  หลังๆเขาก็ไม่ค่อยจ้างเพราะเห็นว่าแก่มาก แต่จริงๆ ผมยังไหว “ ลุงฉลองกล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 12.24 ล้านคน และรับเบี้ยยังชีพคนชราจำนวน 9.6 ล้านคน โดยรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือแบบขั้นบันได ตามระดับอายุ คือ อายุ 60 – 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท

อย่างไรก็ตามเงินช่วยเหลือรัฐบาลนั้นไม่เพียงพอต่อการยังชีพในแต่ละเดือน

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบผู้สูงอายุมีรายได้น้อยยังต้องรับเงินจากบุตรหลานมีถึงร้อยละ 57.7 ในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 40.0 ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงชีพ ร้อยละ 99.3 พึ่งพารายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และร้อยละ 65.2 ไม่มีการออม

นางหนูเกน  วัย 61 ปี ผู้สูงวัยอีกคนที่ยังทำงานหนัก เพื่อหาค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเองและช่วยเหลือครอบครัวลูก และดูแลหลาน

นางหนูเกน เข้ามาทำงานบ้าน ในกทม. ตั้งแต่เรียนจบชั้น ป.4 โดยตามญาติมา หลังจากนั้นก็ทำงานโรงงานมาตลอดจนกระทั่งแต่งงานเมื่อ ปี2519 หลังจากมีลูก เธอลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูก 2คน

ตั้งแต่สาวจนล่วงเข้าสู่วัยชรา หนูเกน ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  เธอและครอบครัวอาศัยอยู่ที่ดินเอกชนบริเวณชุมชนรถไฟสายท่าเรือ โดยจ่ายค่าเช่าให้เจ้าของที่ดิน 1,000 บาทต่อเดือน   

“เจ้าของที่ดินยังใจดีให้เราเช่าอยู่ และราคาไม่แพง”

ทุกวันนี้หนูเกน รับทำความสะอาดที่สำนักงานองค์กรเอกชน แห่งหนึ่งย่านซอยวัดเทพลีลา รามคำแหง แม้จะไกลจากที่พักย่านคลองเตยแต่เธอก็ดีใจที่ยังมีงาน

หนูเกน หวังว่าในบั้นปลายชีวิตจะมีเงินเก็บสักก้อนเพื่อไปสร้างบ้านบนที่ดินเปล่าที่เธอและสามีผ่อนไว้ที่ย่านคลองสามวา

 “ พวกเราต้นทุนต่ำ ก็ต้องสู้ชีวิตไป นี่ก็ไม่รู้ว่าขาจะเอาที่ดินคืนเมื่อไหร่ ถ้าต้องย้ายออกก็คงหมดที่ทำมาหากิน “ หนูเกน กล่าว

ขณะที่ลำพูน ในวัย 63 ปี  แม่บ้านทำงานตามบ้าน รายได้ วันละ 600 บาท

“ ช่วงโควิดรายได้ หายไป เกือบ 100 % เพราะบ้านที่เขาเคยจ้างเรา เขาก็กลัวโควิดขอไม่ให้มาทำงาน ก็ว่างงานเกือบปี จนกระทั่งได้ฉีดวัคซีนปีที่แล้ว เจ้าของบ้านที่เคยทำความสะอาดถึงให้กลับไปทำงานอีกครั้ง “

ลำพูนทำงานบ้านมาเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้ทำงานก่อสร้างกับสามี แต่หลังจากอายุเริ่มมากก็ทำงานก่อสร้างไม่ไหว จึงหันมารับงานทำความสะอาดตามบ้าน

เธอบอกว่า ยังโชคดีที่บ้านไม่ต้องเช่า อาศัยที่ดินของเจ้านายเก่าสามีที่ยังให้ปลุกเพิงอาศัย แต่ก็ไม่รู้ว่าหลังจากนี้ หากเขาเอาที่ดินไปทำอย่างอื่น เราจะไปอยู่ที่ไหน เพราะทุกวันนี้ก็ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีที่ดิน

ลำพูนอาศัยอยู่กับสามี ลูกสาว ลูกเขยและหลานอีก 2 คน  โดย ลูกชาย ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนลูกสะใภ้ก็รับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ    รายได้ส่วนหนึ่งของเธอยังต้องนำมาช่วยครอบครัวลูกชาย

ขณะที่ชายวัย 63 ปี เลือกมาหางานในกรุงเทพ และอยู่แบบเร่ร่อนเพราะอยากหาเงิน จะได้ส่งเงินไปให้ลูกที่พิการและภรรยา ใช้  เป็นค่ากินอยู่ เป็นค่าห้องเช่า

ชายวัย 63ปี ใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน มา 3-4 ปี งานไม่ได้มีสำหรับชายสูงวัยเท่าไหร่นัก

 เขาเล่าว่า มีลูกชายอยู่ 1คน อยู่ในวัยทำงาน แต่วันหนึ่งเขาประสบอุบัติเหตุ สภาพปัจจุบันคือผู้พิการติดเตียง ผู้เป็นแม่และอดีตภรรยาของเขาทำหน้าที่ดูแล สองแม่ลูกพักอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆแห่งหนึ่งที่ฉะเชิงเทราชายหนุ่มพิการติดเตียงมาตั้งแต่ปี2553.

“ค่าใช้จ่ายหลักๆก็จะเป็นค่าเช่าห้องประมาณสองพันบาท ค่าน้ำไฟหนึ่งพันบาท ค่ากินอยู่สามพันบาท ต่อเดือน ค่าอุปกรณ์พิการของลูกชายที่มีให้ต้องจ่าย ดีอยู่บ้างที่ลูกชายพิการได้เงินเยียวยาความพิการจากประกันสังคมสี่พันกว่าบาท รวมกับเงินคนพิการ เงินผู้สูงอายุ อย่างน้อยยังให้ได้มีห้องอยู่ และเหลือไว้เจียดเป็นค่าอาหารในแต่ละวัน” เขากล่าว

หลังจากที่เขาได้งานจากโครงการจ้างวานข้า เขามีเงินจ่ายค่าที่พัก ไม่ต้องอาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ และมีเงินซื้อของกลับไปให้ลูกเพิ่มขึ้น

 “พ่อเขาถ้ามาเยี่ยมลูกชาย เวลามาเขาจะนั่งรถไฟฟรีมา เขาจะแบกกระเป๋าใบใหญ่ ในนั้นจะมีของกินของใช้เต็มกระเป๋าพวกนม พวกผ้าอ้อม มาม่า ปลากระป๋อง เขาจะใช้เงินในบัตรประชารัฐซื้อของมาให้ทุกครั้ง มีเท่าไหร่ก็กดออกมาหมดเลย หรือบางทีเขาก็ไปรับของแจกฟรี ตามที่ต่างๆ สะสมไว้เยอะๆแล้วก็จะรีบขนมาให้ลูกชายเขา เขาแบกมาครั้งหนึ่งก็กินกันได้นานเป็นเดือนๆเลยแหละ” ผู้เป็นแม่กล่าว

สอดคล้องกับเบญจมาศ ที่บอกว่าผู้สูงอายุที่มาทำงานในโครงการหลายคน ต้องแบกรับภาระดูแล ลูก หรือบุคคลในครอบครัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลำพังเงินจากเบี้ยยังชีพ 600 และ 700 บาทต่อเดือนไม่เพียงพอ ที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน

ก่อนหน้านี้ นายวรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุพบความหลากหลายในชีวิตประจำวัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ 1.รายได้ไม่เพียงพอ 2.ไม่มีหลักประกันสุขภาพ 3.สภาพแวดล้อมในบ้านและสังคมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต

ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานชีวิต เช่น ได้รับการศึกษาที่ไม่สูง ไม่รู้วิธีการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ นโยบายไม่ตอบโจทย์ต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน และในอีก 20 ปีข้างหน้าพบผู้สูงอายุมีแนวโน้มครองโสด ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก หรือมีลูกน้อยลง การจัดทำนโยบายดูแลคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกกลุ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจและสุขภาพ 7 กลุ่ม คือ

1.ผู้สูงอายุที่ผู้พิการ-ทุพพลภาพ

2.ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

3.ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง-ไร้บ้าน

4.ผู้สูงอายุยากจน

5.ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสถานะบุคคล

6.ผู้สูงอายุที่ย้ายถิ่นกลับบ้าน

7.ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ

วรเวศม์ กล่าวต่อว่า ระยะสั้นมีข้อเสนอให้กำหนดนโยบายเรื่องหลักประกันด้านรายได้ มาตรการบำนาญให้เป็นเป้าหมายของสังคมที่ชัดเจน และควรปรับปรุงให้เป็นแผนใหญ่พร้อมดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ส่วนระยะกลางต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมดูแลผู้สูงอายุที่จะย้ายถิ่นกลับด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดูแลให้ความช่วยเหลือจะต้องบูรณาการหลายภาคส่วน โดยอาจต้องนำแนวคิดเรื่องการอยู่อาศัยในที่เดิมมาวางแผนเรื่องการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้จากการสำรวจ การคัดกรรองสุขภาพและดูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน  ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า  จำนวนผู้สูงอายุ 12.24 ล้านคน   มีผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมจำนวน  7.4 ล้าน  (สุขภาพแข็งแรง ยังดูแลตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ ทำกิจกรรมทางสังคมด้วยตัวเองได้ ) ประมาณ 96% (7.43 ล้านคน) กลุ่มติดบ้าน ไม่อยากออกไปไหน และทำกิจกรรมในบ้าน ประมาณ206,500  คน หรือ  2.69%    กลุ่มติดเตียง (เจ็บป่วย สภาพอ่อนแอ)  46,500 คน หรือ .60%   ถึงแม้ว่ากลุ่มติดเตียงจะไม่มาก  แต่เราไม่ต้องการให้ผู้สูงอายุไม่ไปอยู่ในกลุ่มติดเตียง เพราะเมื่อไปอยู่ถึงจุดนั้นการดูแล ก็จะลำบาก 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ

เฟชบุ๊คเพจ จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

เวปไชด์Thaipbsworld https://www.thaipbsworld.com/stories-of-suffering-and-struggle-reveal-tragic-side-of-thailands-ageing-society/

หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_3196003

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here