Hackathon…ทางออกในวันที่ไม่มีใครฟังใคร ?

0
884
kinyupen

อาจด้วยช่วงวัย ประสบการณ์ หรือ วิธีการเรียนรู้ที่เรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามถ้าวางอคติที่มีต่อแต่ละฝ่ายลงแล้วมองลึกไปจะพบได้ว่า ทุกฝ่ายล้วนเป็นห่วงสังคม หวังดีต่ออนาคตประเทศทั้งสิ้น ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะนำแนวคิดดีๆ ของแต่ละฝ่ายมาแสวงหาจุดร่วม..สงวนจุดต่าง เพื่อหาทางออกให้ประเทศอย่างไรดี

 

 

ล่าสุด กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พบเทคนิคน่าสนใจและอาจเหมาะกับการนำมาปรับใช้เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับคนต่างช่วงวัยมาแสดงความเห็นมุมต่างบนโจทย์เดียวกันได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเผชิญหน้า นั่นคือ แฮคกาธอน (Hackathon) ส่วนจะน่าสนใจ หรือ เหมาะจริงหรือไม่นั้น เรามาลองทำความรู้จักกับเทคนิคนี้กัน

 

มารู้จัก แฮคกาธอน (Hackathon)

 

Hackjunction

 

แฮคกาธอน (Hackathon) เดิมเป็นการแข่งขันในวงการคอมพิวเตอร์ เช่น เขียนโปรแกรม แอป เว็บไซต์ หรือ ฮาร์ดแวร์ตามเวลาที่กำหนด หากต่อมาได้รับความนิยมในวงการต่างๆ มากขึ้น โดยคำนี้มีที่มาจากการนำคำว่า Hack หรือ Hacker มารวมกับคำว่า Marathon หมายถึง การระดมความคิดของคนบนโลกเสมือนออนไลน์แบบต่อเนื่อง โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 – 5 วัน

 

ส่วนมากผู้ร่วมกิจกรรมจะรวมกลุ่มกันเป็นทีม เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ไอเดีย โมเดลธุรกิจ สินค้า บริการและวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรม ก่อนนำเสนอเพื่อหาผู้ชนะ และอาจต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคตได้จริง หากผลงานนั้น ๆ เป็นที่ถูกใจบรรดานักลงทุน หรือ ผู้มีงบประมาณให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนา อาทิ อีลอน มัสท์ ที่เคยใช้เทคนิคนี้ระดมสมองหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสายการผลิตรถยนต์ Tesla Model 3 มาแล้ว

 

ถ้าอ่านถึงตรงนี้ อาจคิดได้ว่าเรื่องแบบนี้มันเหมาะกับนักไอที หรือ สตาร์ทอัพสิ แล้วมันจะนำมาแก้ปัญหาในเชิงสังคม หรือ ความขัดแย้งได้อย่างไร….ขอบอกเลยว่ามี

 

นครรัฐวาติกัน เคยจัดแฮคกาธอนบนโจทย์ที่ว่า “ต้องการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะอุปสรรคทางสังคม 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ การรวมตัวกันทางสังคม ความหลากหลายทางเชื่อชาติ ศาสนา และการช่วยเหลือผู้อพยพผู้ลี้ภัย

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิ Chan Zuckerberg และยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Facebook, Giphy, Microsoft, Pinterest, Slack, TikTok, Twitter, WeChat จัดงาน COVID-19 Global Hackathon เพื่อเชิญชวนคนไอทีมาแก้ปัญหา COVID-19 ในแง่มุมต่างๆ ขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

Hackjunction

 

ล่าสุด อ้างอิงจากบทความมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา เรื่อง “Hack the Crisis โมเดลแก้วิกฤตแบบคนรุ่นใหม่” ระบุว่า ประเทศเอสโตเนีย นำเทคนิคแฮกกาธอน (Hackathon) มาจัดเวทีสำคัญที่ชื่อว่า “Hack the crisis” ซึ่งใช้เวลาระดมสมองแก้วิกฤตโควิด-19 ภายในประเทศแบบต่อเนื่อง 48 ชั่วโมงแบบไม่หลับ ไม่นอน มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก และแนวคิดหลายอันก็ได้ถูกนำไปใช้จริงโดยรัฐบาลเอสโตเนียในที่สุด

 

หลังความสำเร็จของเอสโตเนีย ก็ได้มีการจัดแฮกกาธอนแบบนี้อีกมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ขยายไปสู่การเกิดขึ้นของ “แฮกกาธอนโลก” (Global Hack) ภายใต้การสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมาธิการยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และบริษัทต่างๆ เช่น Facebook, Slack และ Zoom มีผู้ร่วมกว่า 12,000 คน จาก 98 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กักตัวอยู่ในบ้านช่วงโควิด-19

 

ดังจะเห็นได้ว่าการจัดแฮคกาธอน ไมได้มีประโยชน์จำกัดอยู่แค่การระดมสมองพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเวทีระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาให้กับภาคสังคมได้อีกด้วย

 

แฮคกาธอนในเมืองไทย

 

SCG HACKATHON

 

ประเทศไทยมีการจัดแฮคกาธอนมาแล้วหลายครั้ง โดยองค์กรชั้นนำ เช่น SCG, Line, Tesco, Lotus, TMB เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ในการแข่งขันและพัฒนาธุรกิจ

 

นอกจากนี้ ยังเคยมีการจัดแฮคกาธอนหาไอเดียพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเตรียมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติภายใต้ความร่วมมือหลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ  The Asia Foundation เว็บไซต์ Data.go.th และ Social Technology Institute ฯลฯ มาแล้ว ส่วนวงการการศึกษาก็มีการนำเทคนิคนี้มาใช้เพื่อหวังสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาบ้านเราด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้น หากมีคนลองนำมา “แฮกกาธอน” มาเพื่อเปิดใช้เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายคู่ขัดแย้งทางความคิดในบ้านเราบ้างก็อาจเป็นทางออกที่ดี เพราะแต่ละฝ่ายจะได้มีพื้นที่แสดงความคิดของตนได้อย่างอิสระแบบที่ไม่ต้องระบุชื่อ

 

นอกจากไม่ต้องเกิดการปะทะ หรือ ประชันหน้ากันแล้ว เรายังอาจกลั่นกรองเพื่อคัดเอาแนวคิดดีๆ บางส่วนเหล่านี้มาใช้สร้างโซลูชั่นที่เหมาะสมให้กับประเทศของเราได้อีกด้วย

kinyupen