เที่ยวสายบุญอยุธยา แวะชมความงามที่ซ่อนอยู่ ณ วัด “ศาลาปูน”

0
1120
kinyupen

 

ถ้าหากมีคนแนะนำให้ทำบุญแก้กรรมไหว้พระ 9 วัดสร้างความเป็นมงคล หรือ สนใจประวัติศาสตร์ โบราณสถาน อยุธยาก็เป็นอีก 1 จังหวัดทางเลือกเพราะตอบโจทย์ครบ

 

โดยส่วนใหญ่เรามักจะเลือกวัดที่คุ้นเคย คุ้นชื่ออย่างวัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล วัดหน้าพระเมรุ ครานี้ กิน-อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงชวนเที่ยวแบบเพิ่มรายชื่อวัดที่น่าสนใจและอยู่ในเส้นทางที่ไม่ไกลกันนัก โดยการเริ่มต้นควรเริ่มจากวัดยอดนิยมในช่วงเช้าเพื่อจะได้ไม่เบียดกับคนจำนวนมาก นั่นคือ วัดพนัญเชิง และต่อด้วยวัดใหญ่ชัยมงคล เพราะวัดใหญ่ฯ สถานที่จะกว้างคนกระจายตัวได้มากกว่า ทั้งนี้แล้วแต่การวางแผนเพราะ 2 วัดนี้อยู่ใกล้กันมาก

 

จากนั้นเดินทางสู่วัดหน้าพระเมรุ หรือ วัดพระเมรุราชิการามวรวิหารหน้าพระเมรุ เพื่อกราบสักการะพระพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ (ทรงเครื่องกษัตริย์) และจะดียิ่งขึ้นถ้าเดินไปวิหารด้านหลังกราบพระคันธารราฐ

 

 

ส่วนวัดเป้าหมายของ กิน-อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตคือ วัดศาลาปูนที่เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ริมคลองเมืองพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำลพบุรีเดิม) ฝั่งตรงข้ามกับเกาะเมือง สันนิษฐานที่มาของชื่อวัด “ศาลาปูน” เพราะแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่เผาปูนขาย ซึ่งยังมีซากเตาเผาปูนอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในสมัยรัชกาลที่ 2 หลังจากถูกทิ้งร้างตั้งแต่ช่วงเสียกรุงฯ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโลกยสุธา หรือ โลกสุธา โดยยังคงความหมายชื่อเดิมอยู่ เพราะคำว่า “สุธา” แปลว่า ปูนขาว

 

สิ่งที่ยืนยันถึงความสำคัญของวัดศาลาปูนในอดีตคือ เป็นวัดที่พระราชาคณะตำแหน่งพระธรรมราชา พำนักสืบต่อกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 – 6

โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดนี้คือ พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา “หลวงพ่อแขนลาย” เป็นศิลปะสมัยก่อนอยุธยา เป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว  ลักษณะคล้ายพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร โดยแขนด้านหนึ่งขององค์พระมีการลงอักขระยันต์ไว้อย่างชัดเจน เชื่อกันว่าเป็นรูปเคารพของพระบรมไตรโลกนาถและพระศรีอารย์ เป็นที่เล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และการบนบานศาลด้วยมะพร้าวอ่อน ไข่ พวงมาลัย ปิดทอง และถวายทองคำแท้ องค์พระเคยถูกขโมยหลายครั้งแต่ไม่สามารถนำองค์พระออกไปได้

 

สิ่งที่ดึงดูดสายตาเมื่อเข้าไปในพระอุโบสถ คือ ลวดลายและสีของภาพจิตรกรรมที่เป็นฝีมือช่างหลวงภายในที่มีอายุการกว่า 500 ปี  หากภาพและลายก็ชำรุดไปมากเหตุจากน้ำท่วมใหญ่ช่วงปี พ.ศ.2554 นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมาย เช่น เจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูนประกอบด้วยฐานประทักษิณสูง มีระเบียบและบันไดทางขึ้นด้านเดียว รวมถึงทางเดินเลียบคลองที่สะอาดตา และถ้าหากมีเวลาพอก็อยากแนะนำให้ไปกราบพระพุทธไสยาสน์ ที่วิหารวัดพนมยงค์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก

เกร็ดน่ารู้

วัดศาลาปูนวรวิหาร เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อวัดไร่ขิงมาก่อน แต่ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาปูน ซึ่งเป้นชาวนครชัยศรี ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดไร่ขิงจนปัจจุบัน

 

อ้างอิงตำแหน่งพระราชาคณะ
สำหรับประเทศไทยนั้นระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พระองค์ได้โปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาจากประเทศลังกาเพื่อให้ประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย พระมหาสามีสังฆราชคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชาลิไททรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศลังกา ระบบสมณศักดิ์ในสมัยสุโขทัยไม่สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง 2 ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระสังฆราชคณะหรือพระราชาคณะ และพระครู

ทำเนียบสมณศักดิ์ไทยในปัจจุบัน

  1. สมเด็จพระสังฆราช 1 พระองค์
  2. สมเด็จพระราชาคณะ 8 รูป
  3. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง 23 รูป
  4. พระราชาคณะชั้นธรรม 50 รูป
  5. พระราชาคณะชั้นเทพ 100 รูป
  6. พระราชาคณะชั้นราช 210 รูป
  7. พระราชาคณะชั้นสามัญ 510 รูป
  8. พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ(ไม่จำกัดจำนวน)
  9. พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ
  10. พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษา)(ไม่จำกัดจำนวน)
  11. พระเปรียญ ป.ธ.9 – ป.ธ.8 – ป.ธ.7 – ป.ธ.6 – ป.ธ.5 – ป.ธ.4 – ป.ธ.3
kinyupen