เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง หนึ่งในสิ่งที่มักพบเจอทุกปี ก็คือ ไฟป่า ซึ่งปีนี้เกิดขึ้นติดกันหลายแห่ง อาทิ เหตุการณ์ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายในป่าสนเขาเป็นพื้นที่กว้าง เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบนเทือกเขามดแดงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลกที่ความเสียหายรวมของพื้นที่กว่า 500 ไร่ และล่าสุดที่เพิ่งผ่านมาคือไฟป่าที่เชียงใหม่ซึ่งลุกลามประชิดข้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ส่งผลให้ค่า PM 2.5 ในเมืองเชียงใหม่พุ่งสูงจนอยู่ในขั้นอันตรายและยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่ได้นำมากล่าวถึง
แต่ทราบหรือไม่ว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้น ส่วนใหญ่เกิดจากอะไร และเหตุใดไฟป่าจึงยังไม่หมดไปเสียที วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอรวบรวมมานำเสนอกัน
ไฟป่าในไทย 90% เกิดจากน้ำมือมนุษย์!
ข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าแนวโน้มการเกิดเหตุไฟป่าในประเทศไทย นับแต่ปี พ.ศ. 2553- 2562 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8%
ต้นเหตุไฟป่าที่เกิดในบ้านเรามาจาก 2 ส่วนหลัก
- เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ดังนั้นเมื่อมีประกายไฟไม่ว่าจากการเสียดสีกิ่งไม้ ใบไม้แห้ง ประกายไฟจากการเกิดฟ้าผ่า หรือ แสงแดดเกิดตกกระทบผลึกหิน ล้วนสามารถเป็นชนวนของการเผาไหม้และก่อให้เกิด “ไฟป่า” ขึ้นเองได้ในธรรมชาติ
- เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ การเผาไร่เพื่อทำพื้นที่เกษตร เผาหาของป่า ล่าสัตว์ แม้กระทั่งจากความประมาท อาทิ ทิ้งก้นบุหรี่ การตั้งแคมป์ การเผาขยะของนักท่องเที่ยว รวมถึงประกายไฟจากการจุดพลุ ล้วนเป็นต้นเหตุของไฟป่าได้ทั้งสิ้น
ถ้าเราพิจารณาสถิติการเกิดไฟไหม้ป่าทั่วประเทศที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บันทึกไว้ จะพบได้ว่า ระยะหลังสาเหตุของไฟป่าเกือบ 90% ของประเทศไทย ล้วนเกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับความเห็นของผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ โดยนายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.) เวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา ที่ให้ข้อมูลน่าสนใจไว้ในมติชน เมื่อกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาว่า
“สาเหตุไฟป่าเกิดจากฝีมือคนจุดไม่ใช่เกิดความร้อนต้นไม้เสียดสีกันเป็นประกายไฟ เมื่อมองให้ลึกลงไปที่การกระตุ้นให้คนจุดไฟเผาป่า ก็จะพบว่าไม่ใช่เผาป่าเพื่อล่าสัตว์แต่อย่างใดเลย เพราะ
1. จุดเพื่อชิงเผา หรือ ทำแนวกันไฟ ป้องกันไฟป่าที่จะเกิดขึ้นไม่ให้ลุกลามเข้าไปในที่หรือสวนของตน
2. จุดเพราะความท้าทายมาตรการของรัฐที่ห้ามเผาเด็ดขาด 90 วันอันตราย หรือ ความสนุกสนาน สะใจ เมื่อเห็นชุดปฏิบัติการไฟป่าที่เข้าเวรยามได้ทำงานกันอย่างทุลักทุเลและเหนื่อยยาก
3.ท้าทายอำนาจรัฐ เช่น เมื่อได้ยินผู้นำประกาศห้ามเผาก็หาเหตุให้เกิดไฟป่าทันที และ 4.การพยายามแยกคนให้ออกห่างจากป่าอ้างเหตุผลว่าป้องกันไฟป่า เป็นต้น”
ภาครัฐใช้ยาแรง แต่ยังไม่ลด
ที่ผ่านมาภาครัฐ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงมาบังคับใช้อย่างจริงจังมีการจับดำเนินคดี ติดคุก และเสียค่าปรับไปแล้วหลายราย ขณะที่หลายจังหวัดต่างออกประกาศห้ามเผาชูบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่อย่าเผาป่าเด็ดขาด เนื่องเพราะปีนี้สภาพพื้นที่มีความแห้งแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปีมาก ทำให้คาดว่าสถานการณ์ไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นเร็วจากปกติมักจะเกิดขึ้นในห้วงเดือนมีนาคมของทุกปี แต่ปีนี้ปัญหาเริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ยาวข้ามปีและเริ่มมาหนักหน่วงมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามแม้จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้นรุนแรง แต่ไฟป่าจากฝีมือมนุษย์ก็ยังไม่ลดน้อยลงเสียที ส่วนหนึ่งเกิดพฤติกรรมและความคุ้นชินของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงความประมาทเลินเล่อที่เกิดขึ้นดังที่ปรากฏหลายครั้งตามข่าว ซึ่งทราบว่าขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างๆ ล้วนพยายามเร่งสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้กับชาวบ้านเกี่ยวกับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผาป่าทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อากาศและสุขภาพ รวมถึงได้รู้คุณค่าทรัพยากรป่าไม้สร้างให้เกิดความหวงแหนที่คาดจะช่วยสร้างผลเชิงล้อมที่ดีขึ้นให้กับป่าไม้ของบ้านเราในเร็ววัน
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าไฟป่าจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อธรรมชาติ แต่ในอีกแง่มุมก็พบว่า ไฟป่าก็มีข้อดีบางอย่างซ่อนอยู่เช่นทำให้พืชพันธุ์ต้นกล้า สามารถแตกหน่อเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อถูกกระตุ้นจากความร้อน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดดอกและเกิดผลของพืชพันธุ์บางชนิด เนื่องจากเถ้าถ่านจากการเผาไหม้ของไฟป่า เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าต่อพืช มีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม และแคลเซียม นี่ถือเป็นอีกหนึ่งความน่าพิศวงของธรรมชาติ ที่ตรงกับวลีว่าเหรียญมักมีสองด้านเสมอนั่นเอง
รู้จักรูปร่างของไฟป่ากันเถอะ!
- หางไฟ (Rear)เป็นจุดเริ่มต้นของไฟ โดยจะอยู่ทิศตรงกันข้ามกับหัวไฟ หรือ สวนทิศทางลม เป็นไฟที่ลุกลามช้าและดับได้ง่าย
- ปีกไฟ (Flanks)เป็นส่วนที่ลุกลามขยายออกด้านข้างของหัวไฟ แบ่งเป็นปีกซ้ายและปีกขวา มักลุกลามตามหัวไฟ รุนแรงน้อยกว่าหัวไฟแต่มากกว่าหางไฟ
- นิ้วไฟ (Finger)เป็นส่วนที่ลุกลามแนวแคบยื่นออกจากตัวไฟหลัก นิ้วไฟแต่ละนิ้วจะมีปีกไฟเป็นของมันเอง
- ขอบไฟ (Edge)เป็นขอบเขตของไฟป่านั้นๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไฟกำลังลุกไหม้ หรือดับแล้วก็ได้
- ง่ามไฟ (Bay)เป็นส่วนของขอบไฟที่อยู่ระหว่างนิ้วไฟ ลุกลามช้ากว่านิ้วไฟ
- หัวไฟ (Head)ลุกลามได้เร็วและมีเปลวไฟยาวมากที่สุด มักลุกลามไปตามความลาดชันตามพื้นที่และทิศทางลม เป็นส่วนที่รุนแรงและอันตรายมากที่สุด
- สุดท้ายส่วนที่ลุกลามนำหน้าตัวไฟหลัก โดยเกิดจากสะเก็ดไฟที่ลอยออกไปตกหน้าแนวไฟหลักและเกิดการลุกไหม้กลายเป็นไฟป่าขึ้นอีกลูก เรียกว่าสะเก็ด (Spot fire)
ที่มาข้อมูล
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช –
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- มติชน