เคล็ดลับ “กินเจ” แบบปลอดภัย ตามสไตล์ “คนป่วย”

0
120
kinyupen

เทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืนในแต่ละปีที่หลายๆคนตั้งตาเฝ้ารอให้มาถึง เป็นเทศกาลที่มีความสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงคนไทยแท้ๆที่มีความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อชำระล้างกาย จิตใจ

โดยในปีนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567 นั้น การกินเจเองก็มีข้อปฏิบัติ รวมถึงแนวทางการปรุงอาหารที่หลากหลายโดยปราศจากเนื้อสัตว์และของคาว หากเป็นคนทั่วไปคงไม่ประสบปัญหาอะไร แต่หากเราอยุ่ในกลุ่มของ “ผู้ป่วย” หรือผู้สูงอายุล่ะ ควรกินเจแบบไหนให้ได้ทั้งสุขภาพ และได้บุญไปพร้อมกัน ตาม กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มาเช็คข้อมูลจากแพทย์ไปพร้อมๆกันค่ะ

นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต สามารถทานอาหารเจได้ แต่ควรทานอาหารเจอย่างเหมาะสมกับกลุ่มโรค เพื่อไม่ให้เกิดอาการข้างเคียงหรือภาวะขาดสารอาหาร โดยสามารถแยกการกินเจ ออกเป็นกลุ่มโรคต่าง ๆ ดังนี้

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน : ระวังอาหารเจที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ข้าวขาว เส้นหมี่ หรือขนมหวานเจ เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ควบคุมปริมาณการรับประทานผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ลำไย มะม่วงสุก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปเจ การปรุงอาหารด้วยซีอิ๊ว ซอสถั่วเหลือง หรือน้ำปลาเจที่มีโซเดียม

ผู้ป่วยโรคไต : ต้องจำกัดผักใบเขียว และผลไม้บางชนิดที่มีค่าโพแทสเซียมสูง หรือถั่วเหลือง ธัญพืชบางกลุ่ม และจำกัดเครื่องปรุงโซเดียมสูง

ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง : ควรลดการบริโภคอาหารผัดหรือทอด หากบริโภคบ่อยจะทำให้น้ำหนักเกินหรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง

ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคอ้วน : ควรควบคุมการรับประทานอาหารเจและออกกำลังกายเพื่อช่วยการเผาผลาญแป้งและน้ำตาลที่รับประทานมากขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ

ผู้สูงอายุ: นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ ได้ให้คำแนะนำในการกินเจสำหรับผู้สูงอายุ ไว้ดังนี้  ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารเจ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีกากใยสูงเพราะเมื่อร่างกายได้รับกากใยมากจนเกินไปจะทำให้ผู้สูงอายุท้องอืด ท้องผูก

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเจสำเร็จรูป : ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย ต้องมีฉลากถูกต้อง มีคุณค่าทางโภชนาการผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปที่สะอาดและได้มาตรฐาน เช่น ร้านที่ผู้ขายสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร ภาชนะบรรจุอาหารสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรับประทานผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งก่อนบริโภคเพื่อลดสารพิษตกค้าง

โดยในปัจจุบันประชาชนหันมารับประทานอาหารเจมากขึ้น ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารเจให้ได้บุญได้สุขภาพไปพร้อมกัน ได้ดังนี้

  • ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • เน้นอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น เต้าหู้ ถั่ว ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์
  • เพิ่มวิตามินบี 12 เนื่องจากการบริโภคอาหารเจในระยะยาวมีโอกาสขาดวิตามินได้
  • ทานผักผลไม้และธัญพืชเต็มเมล็ดเพื่อช่วยเพิ่มเส้นใยอาหาร
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง อาหารรสจัด เช่น หวานจัด มันจัด เค็มจัด ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นอกจากนี้ประโยชน์ของการรับประทานพืช ผัก ผลไม้ และธัญพืช ยังส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายปรับตัวอยู่ในภาวะสมดุลเพราะเกิดการขับพิษและของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกาย ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบย่อยอาหารจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สุขภาพดีขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐกิจ

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here