รำลึกถึง นพ.อมร นนทสุต ผู้บุกเบิกชาวบ้านให้พ้นจากความ โง่-จน-เจ็บ

0
532
kinyupen

อาจารย์อมรทำงานด้านอนามัยตามชุมชนต่างๆ เขาเข้าทำงานในกรมอนามัยในปี 2496 ทางกรมส่งเขาไปประจำการที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ตอนนั้นเป็นถิ่นทุรกันดารไกลโพ้น วันหนึ่งอาจารย์ไปออกตรวจที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง พบว่าเด็กเล็กไปจนถึงคนชราเป็นโรคคอพอกกันเกือบทั้งหมู่บ้าน!

 

สมัยนั้นชาวบ้านเรียกโรคคอพอกว่า ‘โรคเอ๋อ’ เกิดจากการขาดสารไอโอดีน ทำให้สมองพัฒนาช้า มีสติปัญญต่ำ โดยเฉพาะเด็กๆ รวมถึงขาดความสามารถในการพูด ออกเสียงได้แค่ เอ๋อ-อ๋า จนเป็นที่มาของชื่อโรคเอ๋อ

โรคนี้พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยขึ้นไปจนถึงพม่าและลาว เนื่องจากสารไอโอดีนจะอยู่ในเกลือสมุทร อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งถือเป็นของหายากของคนพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ได้รับปริมาณไอโอดีนต่ำกว่าปกติ

 

ในฐานะตัวแทนของกรมอนามัย อาจารย์อมรได้ทุนจาก WHO ไปดูการผลิตเกลือผสมไอโอดีนที่อินเดีย พอกลับมาก็ตั้งโครงการศึกษาโรคคอพอกร่วมกับ นพ.ร่มไทร สุวรรณิก ผู้เชี่ยวชาญรังสีวิทยาจากศิริราช ตอนแรกทำเป็นเม็ดโปแตสเซียมไอโอไดค์แจก แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านมักลืมกิน จึงทำเกลือเสริมไอโอดีนแทน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกลืออนามัย

 

 

5 ปี ผ่านไปหมู่บ้านที่อาจารย์อมรเดินทางไปพบคนไข้โรคคอพอกไม่มีผู้เป็นโรคคอพอกอีกเลย แต่อัตราการผลิตยังไม่ทั่วถึง เมื่ออาจารย์อมรได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงผลักต้นให้โรคขาดสารไอโอดีน รวมถึงโรคขาดสารอาหารอื่นๆ บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 พร้อมกับทำงานเชิงรุกมากขึ้น กระทั่งตัวเลขผู้เป็นโรคคอพอกเหลือน้อยลงมาก

 

ปัญหาสำคัญในช่วงต้นทศวรรษ 2500 คือ บริการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง ครอบคลุมเพียง 15-30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั่วประเทศ หากจะให้สร้างสถานบริการสาธารณสุขเพิ่มจนครอบคลุม ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทดลองดึงชาวบ้านมามีส่วนร่วม แต่แทนที่จะใช้คนหนุ่มสาว กลับใช้ผู้ใหญ่หรือคนที่เป็นที่นับถือ และพอเสร็จก็ไม่ต้องมาประจำที่สถานีอนามัย แต่ให้ทำงานอยู่ในหมู่บ้านนั่นเอง ด้วยความเชื่อว่า วิธีนี้จะเห็นผลกว่า

 

จุดเริ่มต้นของ ‘ผสส- ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข‘ ตัวกลางในการสื่อสารเรื่องสาธารณสุขกับชาวบ้าน และ อสม.- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน การเลือกคนมาทำหน้าที่นี้ อาจารย์ใช้วิธีคุย ถามชาวบ้านว่าเวลาเจ็บป่วยเขาไปหาใคร เวลามีปัญหาสุขภาพปรึกษาใคร ใครเป็นที่พึ่ง แล้วนำคำตอบมานับดูว่าชาวบ้านระบุชื่อใครมากที่สุด เฉลี่ยจะมีคนหนึ่งในทุกๆ 15 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้อาวุโส อาจารย์ก็จะดึงคนเหล่านี้ไปเป็น ผสส. พร้อมอบรมความรู้เรื่องสาธารณสุข แล้วให้เขานำความรู้ที่ได้มากระจายสู่ชุมชนต่อไป

 

หลังจากทำไปสักระยะ อาจารย์พบว่าจริงๆ แล้ว ชาวบ้านเองก็มีความสามารถรักษาพยาบาลกันเองได้ จึงเกิดความคิดจะสร้าง ‘อสม.-อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน‘ ขึ้นมา โดยฝึก ผสส. ให้มีความรู้ในการรักษา ซึ่ง อสม. จะได้รับการฝึกให้รักษาโรคต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น ปวดหัวตัวร้อน ท้องร่วง ฝึกทำแผล ฉีดยา เจาะเลือด ความรู้เรื่องยาต่างๆ รวมถึงการป้องกันโรค เช่น มาลาเรีย พยาธิ ไปจนถึงวางแผนครอบครัว

 

ผลคืออัตราการเจ็บป่วยน้อยลง คนหายจากโรคมากขึ้น ชาวบ้านได้ช่วยเหลือกันเอง จังหวัดอื่นๆ จึงนำโมเดล ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย เกิดการวางรากฐานของ อสม. ไปทั่วประเทศ เมื่ออาจารย์อมร รับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2520 เขาได้ผลักต้นเรื่อง ผสส. และ อสม. เข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 เพื่อจะได้ดูแลเรื่องสุขภาพเบื้องต้นของคนในพื้นที่ได้ หรือที่ภาษาทางการเรียกว่า ระบบสาธารณสุขมูลฐาน’

 

 

ตลอดชีวิตการทำงานของอาจารย์อมร ได้ฝากผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะกับชาวบ้านและผู้ยากไร้ ปลุกชาวบ้านให้ลุกตื่นจากความ โง่-จน-เจ็บ รวมถึงเป็นบุคคลแรกที่คิดค้นและทำโครงการบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งต่อมา นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พัฒนาต่อมาเป็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

 

อาจารย์อมรจากไปเมื่อวัน 2 มิถุนายน 2563 ด้วยวัย 92 ปี เป็นชีวิตที่ทุ่มเทตั้งใจจะทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

kinyupen