“กินเจ-นวราตรี” ต่างที่มา บนแก่นความเชื่อ เดียวกัน

0
1344
kinyupen

ทราบไหมว่า ทุกปีในช่วงขึ้น 1 ค่ำ – ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน จะมีสองเทศกาลสำคัญเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือ ประเพณีถือศีลกินผัก หรือ ที่เราคุ้นชินกันว่า “เทศกาลกินเจ” ของคนเชื้อสายจีน และ “เทศกาลนวราตรี หรือ ดูเซร่า” ของคนเชื้อสายพราหมณ์-ฮินดู สองสิ่งนี้มีความคล้ายคลึงกัน อย่างน่าสนใจ ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะพาไปไขข้อสงสัยนี้กัน

 

กินเจ = รักษาศีล อุโบสถ

ต้นกำเนิด เทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก มีที่มาอ้างถึงในหลายตำนาน ซึ่งทั้งหมดล้วนอิงกับความเชื่อของลัทธิเต๋าและพุทธศาสนานิกายมหายานในจีนทั้งสิ้น หากเมื่อพิจารณาจากหลายตำนานหลายความเชื่อ ทั้งที่ระบุว่าทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ทำเพื่อรำลึกถึงนักรบที่สละชีพเพื่อชาติ หรือ ทำเพื่อผู้มีพระคุณ ด้วยเชื่อว่าเหล่าทวยเทพจะอำนวยพรให้ผู้ที่ปฏิบัติ เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

ส่วนการเผยแผ่เทศกาลกินเจ เข้ามายังบ้านเรานั้น นอกจากมากับความเชื่อ ของชาวจีนโพ้นทะเลอพยพแล้ว บางตำรายังระบุว่า เกิดจากกลุ่มลูกครึ่งมลายู – จีนทางภาคใต้ของไทยที่เรียกว่า “บาบ๋า-ย่าหยา” (หรือ ชาวเปอรานากันในมาเลเซีย) ซึ่งส่วนใหญ่พำนักอาศัย อยู่แถบภูเก็ต ตรัง ปัตตานี สงขลา นราธิวาส เป็นผู้นำเข้ามา โดยนอกจากไทยแล้ว ประเพณียังแพร่หลายอยู่ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียด้วย

ทั้งนี้ ด้วยคำว่า “เจ” ภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า “อุโบสถ” ซึ่งในทางมหายานนั้น การถือศีลอุโบสถของชาวมหายาน ก็คือการไม่กินเนื้อสัตว์ หรือ ทานมังสวิรัต ดังนั้นเมื่อมารวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ จึงกลายเป็นการถือศีลกินเจ

 

ดูเซร่า เฉลิมฉลอง 9 วัน 9 คืนแด่องค์พระแม่อุมาเทวี

“เทศกาลนวราตรี หรือ ดูเซร่า” ของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขก จัดขึ้นช่วงเดียวกับเทศกาลกินเจ โดยสานุศิษย์ผู้ศรัทธา จะลดเว้นการทานเนื้อสัตว์  9 วัน 9 คืน ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา ซึ่งเป็นปางหนึ่งของ พระแม่อุมาเทวี ที่ทรงต่อสู้กับมหิงสาสูร 9 วัน 9 คืนก่อนสามารถเอาชนะอสูรร้ายได้ในวันที่ 10 จึงจัดพิธีแห่เพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และรอรับความเป็นสิริมงคลจากองค์เทพ อันถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมายาวนาน

 

สองความเชื่อบนแก่นเดียวกัน

ทั้งสองเทศกาล แม้จะต่างที่มา ต่างความเชื่อ ต่างเชื้อชาติ แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ

  1. จัดช่วงเวลาเดียวกัน เทศกาลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 28 กันยายน – 7 ตุลาคม ขณะที่เทศกาลนวราตรี ตรงกับวันที่ 28 กันยายน – 8 ตุลาคม
  2. มีขบวนแห่และการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เทศกาลกินเจจะมี “พิธีแห่พระ” และมี “ม้าทรง” อัญเชิญเหล่าทวยเทพมาประทับแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อาทิ นำเหล็กแหลมเสียบแทงร่างกาย มีประเพณีวิ่งลุยไฟ ปีนบันไดมีด เช่นเดียวกับเทศกาลนวราตรีที่จะมีขบวนแห่คนทรงและองค์เทพกว่า 8 ขบวน เช่น ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ขบวนรถแห่องค์พระพิฆเนศวร รวมทั้งเหล่าคนทรงที่มาทรมานกาย อาทิ นำเหล็กแหลมมาทิ่มแทง เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ที่ได้รับจากองค์เทพ
  3. งดเนื้อสัตว์เพื่อชำระล้างกายใจ ผู้เข้าร่วมต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อลดการเบียดเบียน ชำระกายใจ
  4. เชื่อในการบูชาเพื่อแสดงความกตัญญูแก่องค์เทพผู้มีพระคุณ

 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแก่นหลักแท้จริงทั้งสองเทศกาล คือ การบำเพ็ญศีลภาวนา รักษาความบริสุทธิ์ของจิต ละเว้นบาป อบายมุข กิเลส ซึ่งนั่นก็ตรงกับหัวใจของทุกศาสนาบนโลกที่ล้วนมุ่งให้คนทำดี ลดเบียดเบียน และ มีเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกนั่นเอง

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

kinyupen