“ใจดี สู้เสือ” เสือร้ายตัวที่ 3 “ความเห็นต่างทางความคิด”

0
698
ใจดีสู้เสือ-การเมือง
ใจดีสู้เสือ-การเมือง
kinyupen

เสือร้ายตัวที่ 3 “ความเห็นต่างทางความคิด” ไม่มีผู้ชนะ ทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากัน

 

ความเห็นต่างทางความคิด โดยเฉพาะด้านการเมืองเป็นเรื่องปกติทุกหนแห่งบนโลกใบนี้ เป็นเรื่องที่ “ไม่มีใครถูก – ใครผิด” เพราะทุกฝ่ายล้วนอยากให้บ้านเมืองดีขึ้นดั่งภาพตามอุดมคติของตน  หากภาพที่เพ้นท์ขึ้นของแต่ละฝ่ายมักเป็นภาพที่ต่างกันอันเกิดจากสิ่งรอบตัวที่บ่มเพาะปลูกฝังมาของแต่ละคน ซึ่งความเห็นต่างในบ้านเราวันนี้ หากพิเคราะห์แล้วพบได้ว่า “ความต่างของช่วงวัย” เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกันของแต่ละ Gen ส่งผลให้การเมืองในอุดมคติ มุมมอง ความคาดหวังสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

 

 

มุมที่หนึ่ง เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น หากพิจารณาการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกอยู่ในคนรุ่น Gen Y (เกิดปี พ.ศ.2523-2543) เป็นส่วนใหญ่ เราจึงเห็นการแสดงออกของคนกลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มคนวัย Gen Z หรือปลาย Gen Y ที่มีอายุราว 18-23 ปีเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นวัยที่กำลังแสวงหาตัวตน แสวงหาความสำเร็จ แสวงหาอนาคต ต้องการสิทธิเสรีภาพที่สมบูรณ์แบ กล้าเสี่ยง รวมถึงมักเปิดรับมุมมองความคิดและวัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่างซึ่งคิดว่าจะช่วยให้มีอนาคตที่ดีขึ้น จึงมักเรียกร้องและแสดงออกมาผ่านพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจขัดต่อขนบที่คนอีกกลุ่มไม่คุ้นเคย

 

วิธีคิดของคนกลุ่มนี้ ไม่ได้ถูก หรือ ผิดไปเสียหมด บางมิติเป็นเรื่องดี อาทิ การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมเป็นธรรม แต่บางมิติยังขาดการมองผลกระทบที่รอบด้าน อันเป็นเรื่องปกติตามประสบการณ์ชีวิต ซึ่งสิ่งที่กลุ่มนี้แสดงออกมาก็อาจเป็นสิ่งที่คนกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer อาจเคยผ่านและแสดงออกมาก่อนแล้วในอดีต

 

มุมที่สอง สังคมนี้ก็ดีอยู่แล้ว มักเป็นมุมมองของคนกลุ่ม Baby Boomer หรือ Gen X ที่ได้รับอิทธิพลจากบริบททางสังคมอันแตกต่างจากอีกกลุ่มโดยสิ้นเชิง จึงเคร่งครัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีนิยม ให้ความสำคัญต่อหน้าที่พลเมือง ดังนั้นจึงนิยมมองหาความสงบสุขและการขับเคลื่อนสังคมตามระเบียบ ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ตนไม่คุ้นเคย

 

ความขัดแย้งทางความคิดแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ แต่คนในสังคมต้องตั้งสติให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้กงล้อแห่งความรุนแรงในอดีตเวียนกลับเข้ามา ดังนั้นจึงควร “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เปิดใจรับฟังเพื่อนำมุมที่ดีสองฝ่ายมาปรับหาจุดร่วม

 

เพราะผู้ใหญ่ที่มากประสบการณ์อาจมีมุมมองรอบคอบกว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน ได้เห็นหลายมุมในอดีตที่คนรุ่นใหม่อาจยังไม่เคยเห็น ขณะที่ทัศนคติการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีเสมอไป เพราะอาจมองว่ายังมีอนาคตอีกยาวไกลจึงต้องการแสวงหาสิ่งที่คิดว่าดีสำหรับตนในอนาคต แต่วันหนึ่งเมื่อช่วงวัยเปลี่ยนไปมุมมองก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นมุมเดียวกับที่ผู้ใหญ่ในปัจจุบันมองอยู่ก็เป็นได้”

 

อย่างไรก็ตาม หากตั้งสติย้อนมองบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ทั่วโลกจะพบว่า มักเริ่มจากจุดปะทุเล็กๆ หรือ  ความขัดแย้งในสภาที่ลุกลามขยายวงสู่ท้องถนนจนบานปลาย นำสู่ความรุนแรง บาดเจ็บ สูญเสียเกินควบคุม ซึ่งทุกเหตุการณ์ขัดแย้งบนโลกใบนี้ ท้ายสุดแล้ว “ไม่เคยมีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะแท้จริง ทุกฝ่ายล้วนเป็นผู้แพ้ทั้งนั้นและผู้แพ้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดก็คือประชาชน” นั่นเอง

 

 

“เพราะประเทศของเราไม่ใช่ของหนึ่งคน สองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ปัญหา เพราะอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกันมันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไรแล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่จะต้องเอาชนะแล้วใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ผู้นำฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วงช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535

 

ขอขอบคุณภาพจาก : สราวุธ อิสรานุวรรธน์ / Facebook : Iamzoof

////////////////////////////////////////////////////////////

 

kinyupen