เลิกซะ! พฤติกรรมเสี่ยง “ดื้อยา” รักษาไม่หายเหมือนตายทั้งเป็น

0
654
กินอยู่เป็น_เลิกซะ!-พฤติกรรมเสี่ยง-ดื้อยา-รักษาไม่หายเหมือนตายทั้งเป็น_web
kinyupen

“อาการดื้อยา” หนึ่งในภาวะที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปหลาย ๆ คน ผลมาจากการรับประทานยารักษาโรคที่ซื้อตามร้านขายยาทั่วไป และรับประทานยาแบบผิดวิธี กระทั่งยาตัวดังกล่าวไม่สามารถรักษาให้หายได้

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอพาทุก ๆ ท่านไปรู้จักกับเรื่องราวของ “อาการดื้อยา” หนึ่งในภาวะที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปหลาย ๆ คน ผลมาจากการรับประทานยารักษาโรคนั่นเอง จริง ๆ แล้ว อาการดื้อยา หมายถึง ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียต่อต้านยาปฏิชีวนะ ส่งผลการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไม่ได้ผลดีดังเดิม จากการรับประทานยาตัวเดิมแล้วอาการไม่ดีขึ้น จนต้องเปลี่ยนเป็นยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย อาการยังคงเดิม ไม่ดีขึ้น กระทั่งไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการรับประทานยาได้ ต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้นกว่าเดิม หรือบางรายมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจากอาการดื้อยามากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่า คนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน/ปี และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 20,000-38,000 ราย/ปี ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่ง ทั้งนี้คาดว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึงปีละกว่า 10 ล้านคน

สาเหตุหนึ่งของการเกิดอาการดื้อยา ส่วนใหญ่มาจากการที่คนไทยหาซื้อยามารับประทานเองตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ และรับประทานยาแบบผิดวิธี จะเห็นบ่อย ๆ ก็คือยาประเภทยาปฏิชีวนะ เนื่องจากหาซื้อ ได้อย่างง่ายดาย ราคาไม่แพงมาก ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยจึงเลือกรับประทานยาจากร้านขายยามากกว่าการไปหาหมอเพื่อรักษาตัว โดยคิดเพียงแค่ว่า ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ่ายเงินแพงไปกับค่ารักษาพยาบาล

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอแนะนำ 10 พฤติกรรมเสี่ยงอาการดื้อยาที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการลดอาการดื้อยา หากไม่หยุดพฤติกรรมเสี่ยง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรักษาโรคได้ลำบากขึ้น เสี่ยงดื้อยาในอนาคตและอันตรายต่อร่างกายเราได้

1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่แยกแยะว่าเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส

2. หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเองทุกครั้งเมื่อมีอาการหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะจึงไร้ประโยชน์

3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง รักษาอาการได้หลาย ๆ อย่าง เป็นประจำ

4. หลีกเลี่ยงการรับการฉีดยาฆ่าเชื้อจากแพทย์เมื่อเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ฯลฯ

5. หลีกเลี่ยงการคาดหวังว่าจะได้รับยาทุกครั้งเมื่อไปพบแพทย์ด้วยอาการป่วยหรือไม่สบาย

6. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่รับประทานไม่หมดตามที่แพทย์สั่ง

7. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอมผสมยาปฏิชีวนะทุกครั้งเมื่อมีอาการเจ็บคอ

8. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะทา หรือโรยใส่แผลสด

9. หลีกเลี่ยงการซื้อยาชุดแก้อักเสบรับประทานเองเมื่อมีอาการป่วย

10. หลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานจากบุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกร

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ วิธีแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการดื้อยา เมื่อเรารู้สึกตัวว่ากำลังจะเจ็บป่วยไม่ว่าจะป่วยน้อยหรือป่วยหนัก ควรศึกษาหาความรู้ถึงอาการป่วยของเราให้ดีก่อน ก่อนจะซื้อยามารับประทานเพื่อรักษาตัวเอง หากไม่มั่นใจควรไปหาหมอ เพื่อทำการรักษาจะดีที่สุด เพราะคุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยอาการและวิธีรักษาได้ดีกว่า อย่าลืมว่าการคุยกันของแพทย์และคนไข้จะทำให้การรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด และนี่คือวิถีแห่ง “กินอยู่เป็น” 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

 

ขอขอบคุณ : ข้อมูลจาก ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

kinyupen