6 สิ่งตามมากับ ‘เบาหวาน’ ปรับพฤติกรรมก่อนสาย!

0
305
kinyupen

ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง ,ไตวายจากเบาหวาน เส้นประสาทเสื่อม ,เบาหวานขึ้นไปที่จอประสาทตา ,โรคหลอดเลือดหัวใจ และสูญเสียประสาทการรับรู้ที่เท้า และแน่นอนอายุจะสั้นลง

 

รศ.พญ.นันทกร ทองแตง สาขาวิชาต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ออกโรงเตือนผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงของ COVID-19 ด้วย โดยระบุว่า กราฟผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้กำลังพุ่งสูง ในประเทศไทย

 

ข้อมูลล่าสุดจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 มีคนไทย 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน คนอายุ 60-79 ปี พบสูงถึง 19% ที่น่าตกใจ คือ มีเด็กและวัยรุ่น เป็นเบาหวานมากขึ้น โดยพบผู้ป่วยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นเบาหวานสัดส่วน 8.9%

ที่สำคัญในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดกว่า 43% ไม่รู้ตัวมาก่อนว่า เป็นโรคนี้เข้าแล้ว จนมีการตรวจเลือด โรคเบาหวาน จึงเป็น “ภัยเงียบ” ที่น่ากังวล

 

 

“พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมนมเนย สิ่งอำนวยความสะดวกก็ครบครัน กิจกรรมทางกายน้อย ทำให้คนปัจจุบันเป็นหวานมากขึ้น และคนที่เป็นโรคนี้ ก็มีอายุน้อยลง”

 

“โรคเบาหวาน ทำให้อายุสั้นลง “ โดยพบว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อายุจะสั้นลง 6 ปี หากเป็นโรคเบาหวาน ร่วมกับโรคหลอดเลือดหัวใจ อายุจะสั้นลง 12 ปี และการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตาบอด ไตวาย เท้าเป็นแผลเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ เป็นต้น

 

แต่โรคนี้ป้องกันได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง รศ.พญ.นันทกร ย้ำว่า ต้องควบคุมน้ำหนักให้ลดลง 5-7% ของน้ำหนักตัวตั้งต้น จะช่วยลดความเสี่ยงได้ 30-50% โดยหมั่นออกกำลังกาย และตรวจคัดกรอง โดยคนอายุ 35 ปีขึ้น ควรต้องเจาะเลือดตรวจ ส่วนคนที่มีความเสี่ยงต้องตรวจให้เร็วกว่านั้น เช่น มีภาวะอ้วน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

 

 

ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว ก็ต้องรักษาตัว วิธีการรักษาก็ไม่แตกต่างจากการป้องกัน เพราะหัวใจสำคัญของโรคนี้ คือ การปรับพฤติกรรม และต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมียาที่เป็นตัวเลือกให้ผู้ป่วยมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทั้งที่เป็นยากิน และยาฉีด แบบยาฉีดอินซูลิน และไม่ใช่อินซูลิน หรือยาฉีดจีแอลพีวัน อะนาล็อก (GLP-1 Analogue) ยาชนิดใหม่ ๆ ถูกพัฒนามาเพื่อลดผลข้างเคียงที่อันตราย ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) นอกจากนี้ ยาบางชนิด เช่น ยาฉีดจีแอลพีวัน อะนาล็อก และยากินบางกลุ่ม ยังมีผลช่วยลดน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้ เป็นต้น โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตามความเหมาะสมและข้อบ่งใช้ของผู้ป่วยแต่ละราย

 

รวมถึงยังมีการพัฒนาวิธีช่วยให้ผู้ป่วยบริหารยาได้ง่ายขึ้น กินยาได้สะดวกขึ้น และเจ็บน้อยลง เช่น การรวมเม็ดยา แทนที่จะกิน 2 เม็ดเหลือ 1 เม็ด หรือใช้ยาฉีด 2 ชนิด รวมกันในเข็มเดียว เพื่อลดจำนวนครั้งในการฉีดยา การพัฒนาเข็ม และอุปกรณ์การฉีดยาให้เล็กลง เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย เช่น เครื่องติดตามระดับน้ำตาลของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ (real time) ติดบริเวณท้องหรือต้นแขน โดยเครื่องจะทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลโดยอัตโนมัติ ทุก ๆ 5 นาที และแสดงผลให้ทราบทันทีทางหน้าจอ ผู้ป่วยและญาติสามารถทราบระดับน้ำตาลของตนเองโดยไม่ต้องเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว ช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และช่วยให้แพทย์ปรับยาได้ง่ายขึ้น

 

และยังมีแอปพลิเคชัน หรือเครื่องมือช่วยคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือแคลอรีในอาหารแต่ละจาน เพื่อควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย รวมถึงอุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกาย เช่น เครื่องนับก้าวในการเดิน การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายได้ เช่น เครื่องนับก้าว ซึ่งตอนนี้ราคาถูกลง

 

รศ.พญ.นันทกร ย้ำว่า แม้เทคโนโลยีจะก้าวไกล มียาดีแค่ไหน แต่ก็ต้องควบคุมพฤติกรรมการกินอยู่ไปพร้อมกันด้วย ที่สำคัญให้หมั่นสาเหตุตนเองว่า มีสัญญาณเป็นเบาหวานหรือไม่ เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ปัสสาวะกลางคืน ชาปลายมือปลายเท้า ให้รีบมาตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยไปจนเบาหวานลุกลาม เกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว เช่น ตามัว การทำงานของไตไม่ดี แผลติดเชื้อไม่หาย เพราะอาจสายเกินไป

 

kinyupen