จริงหรือ…ยิ่งหมดไฟ ยิ่งใกล้ซึมเศร้า?

0
417
kinyupen

เคยหรือไม่…ตื่นมาแล้วรู้ไม่สึกอยากทำอะไรเลย งานที่เคยทำก็ไม่อยากทำ หรือ จากที่เคยทำได้ดีมีผลงานก็กลายเป็นว่าทำแค่ให้มันผ่านไปวันๆ ไม่มีสมาธิ ขาด ลามาสายตลอด ใครทำไม่ถูกจริตก็หงุดหงิดไปเสียหมดเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณกำลังเข้าสู่ “ภาวะหมดไฟ”

 

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้โรคเบิร์นเอาต์ (Burnout Syndrome) หรือ “ภาวะหมดไฟ” เป็นโรคประเภทหนึ่งที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งหากเข้าสู่ภาวะรุนแรงที่สุดอาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าจนถึงฆ่าตัวตายได้

 

“ภาวะหมดไฟ” ไม่ใช่ “โรคซึมเศร้า”

ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงานส่งผลให้เกิดอาการหดหู่ เครียด และขาดแรงจูงใจในการทำงาน โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สรุปสัญญาณเตือน” ของคนหมดไฟไว้ดังนี้

  • ด้านอารมณ์ รู้สึกหดหู่ หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน ไม่พอใจในสิ่งที่ทำ
  • ด้านความคิด มองคนอื่นแง่ลบ โทษคนอื่นเสมอ ระแวง หนีปัญหา ตั้งข้อสงสัยกับศักยภาพตนเอง
  • ด้านพฤติกรรม ขาดความกระตือรือร้น หุนหันพลันแล่น บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ไม่อยากตื่นไปทำงาน มาสายจนผิดสังเกตติดต่อกัน ขาดสมาธิ ขาดความสุขในการทำงาน

 

 

สำรวจตัวเอง เข้าสู่ “ภาวะหมดไฟ” หรือยัง

ถ้าสงสัยว่าเข้าสู่สภาวะหมดไฟแล้วหรือยังให้ลองตั้งคำถามเพื่อสำรวจตัวเอง ดังนี้

1. ประสบความเครียดอย่างรุนแรง โดยมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เนื่องจากการทำงานหรือไม่?

2. กลัวที่จะไปทำงานทุกวันหรือไม่?

3. กังวลเกี่ยวกับการทำงาน แม้ว่าจะเป็นเวลาที่อยู่บ้าน ในเวลาว่างหรือไม่?

4. เคยรู้สึกดูถูก มองในทางลบอย่างรุนแรง เช่น เหยียดหยามต่องานและเพื่อนร่วมงานหรืออยู่ห่างกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่?

5. รู้สึกไม่สามารถทำงานที่เคยเป็นเรื่องง่าย ได้หรือไม่?

6. พบปัญหาทางร่างกายมากขึ้นเช่นปวดหัวมากขึ้นหรือไม่?

 

ถ้าคุณตอบตัวเองแล้ว พบว่ามี 1 ใน 6 ข้อนี้อยู่ล่ะก็ นั่นแปลว่า คุณเริ่มรับรู้อาการเหนื่อยหน่ายในงานแล้ว และถ้าพบมากกว่า 2 ข้อขึ้นไป นั่นหมายถึง “คุณกำลังจะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ!”

 

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่ต้องตื่นตระหนก เพราะยังมีทางออก ที่คุณสามารถปรับแก้ได้แต่เนิ่นๆ

 

 

กรมสุขภาพจิต แนะแนวทางดูแลตนเองเมื่อกำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟ ด้วย 10 วิธีง่ายๆ ดังนี้

1. ยอมรับความแตกต่าง และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นที่อาจไม่ตรงกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น

2. แสวงหาความช่วยเหลือทางสังคม หรือ ทีมพี่เลี้ยงทางสุขภาพจิต

3. ร่วมกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมเพื่อสุขภาพ

4. ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าคุณนอนน้อยเกินไปก็เป็นปัจจัยและเป็นเหตุสนับสนุนที่น่าจะทำให้งานประจำนั้นเป็นงานน่าเบื่อจนเหนื่อยหน่าย หากได้การนอนหลับที่ดีขึ้นจะเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้ร่างกายคนเราฟื้นตัวจากความเหนื่อยหน่ายและพร้อมที่จะกลับไปทำงาน

5. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และดื่มน้ำให้เพียงพอ

6. ลดความเครียดลง ด้วยวิธีที่คุ้นเคย เช่น ฟังเพลง ฝึกสมาธิซึ่งนี่เป็นเทคนิคที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์มายาวนานว่าสามารถช่วยให้รับมือกับปัญหาได้

7. มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์

8. ใช้เวลาให้สมดุลระหว่างหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว

9. ปรึกษาพูดคุยกับคนรอบข้าง

10. ถ้ามีภาวะความเครียดสูงให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ พบควรปรึกษาจิตแพทย์

 

ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ “ภาวะหมดไฟ” กับ “โรคซึมเศร้า” มีความแตกต่างกันและไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่เมื่อใดที่เริ่มมีข้อสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคใด ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

kinyupen