เราลืมรักษาน้ำใจ “คนใกล้ตัว” ไปหรือเปล่า

0
1946
kinyupen

หลายท่านอาจเคยตั้งคำถามกับตัวเราเอง หรือ คนรอบข้างที่รู้จักว่า ทำไมเราหรือเขาจึงทำดีพูดดีมีไมตรีกับคนไกลตัวที่ไม่สนิทได้ง่ายๆ แต่คนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหายที่คอยให้ความช่วยเหลือตลอด ทำไมเราหรือเขาจึงแสดงกิริยา หรือ พูดจาก้าวร้าว ไม่ให้เกียรติ ไม่รักษาน้ำใจ เสมือนที่รองรับอารมณ์อยู่บ่อยๆ

เหตุใดเรา หรือ เขาจึงเป็นเช่นนั้น?

 

เชิงจิตวิทยาพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคนใกล้ตัวนี้อาจมาจากหลายปัจจัย

  1. อิทธิพล “การเลี้ยงดูในอดีต” อาจเกิดจากการเคยถูกพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือ ผู้อุปการะ แสดงความก้าวร้าวโหดร้ายใส่ ไม่ว่าทางคำพูด พฤติกรรม กิริยาที่ไม่เหมาะสม จนกลายเป็นปมผูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึกและรอเวลาระเบิดออกมาเมื่อมีโอกาส
  2. จิตใต้สำนึก “รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย” อาจเกิดจากที่บุคคลนั้นๆ เก็บตะกอนขุ่นมัวทางความรู้สึกเอาไว้ในจิตใต้สำนึกมาก จนเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีคนรัก ดังนั้นจึงแสดงพฤติกรรม คำพูดที่ไม่ให้เกียรติ เหยียบย่ำคนใกล้ตัวให้รู้สึกว่าต่ำต้อยลงไปด้วยจะได้รู้สึกว่ามีพวกต่ำต้อยพอๆ กันอยู่ใกล้ชิดกัน
  3. คนใกล้ตัว “ของตาย” วิธีคิดเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คนใกล้ตัวต้องยอมรับได้ทุกอย่างไม่ว่าจะทำกับเขาอย่างไร ส่งผลต่อจิตใต้สำนึกให้ “ขาด” ความเกรงใจ หรือ ความให้เกียรติต่อกัน ซึ่งผู้ที่แสดงวิธีคิดที่ขาดความเกรงใจ หรือ ไม่ให้เกียรติบุคคลอื่นออกมาบ่อยๆ นั่นแสดงถึงความต่ำต้อยทางความรู้สึกด้านดีต่อเพื่อนมนุษย์และตนเอง
  4. ทำดีพูดดีกับคนใกล้ตัว “อาย” เช่น สามีบางคนอาจอายที่จะแสดงความรักกับภรรยา หรือ ลูกชายอาจอายที่จะกอดพ่อ หรือ แม่ ทั้งนี้สาเหตุของความอายเกิดจากการขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าลงมือทำสิ่งดีๆ พูดจาดีๆ เพราะคิดว่าขัดกับจริตของตัวเอง อันนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากถูกบ่มเพาะเลี้ยงดูในอดีตจึงปกปิดตัวเองด้วยการอาย แล้วปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคุ้นชินแบบเดิมต่อไป

 

 

ทั้งนี้การที่บุคคลใดแสดงอาการก้าวร้าว หรือ ระบายอารมณ์กับคนใกล้ตัว ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดังชาวออสเตรีย เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

 

“เกิดจากความคับข้องภายในใจและความขัดแย้งภายในตัวเอง เพราะต้องแสดงออกโดยข่มความรู้สึกบางอย่างเอาไว้จนกลายเป็นภัยคุกคามที่ทำให้จิตใจไม่มั่นคงและเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงต้องพยายามหาวิธีระบายความเครียดในใจออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองจมอยู่กับความรู้สึกนั้น

เมื่อใดก็ตามที่ไม่สามารถระบายความโกรธไปยังต้นเหตุได้ ก็จะมองหาเป้าหมายใหม่ที่มั่นใจมากพอว่าถ้าเปลี่ยนมาระบายอารมณ์เสียใส่แล้ว ตัวเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเท่าไหร่ ซึ่งเป้าหมายนั้นเป็นไปได้ทั้งคน สัตว์ และสิ่งของ”

 

 

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ “คนใกล้ชิด” จึงมักถูกการมองเป็นที่รองรับอารมณ์ และด้วยสภาพสังคมปัจจุบันที่ทุกคนล้วนต้องเผชิญการแก่งแย่งแข่งขันก็ยิ่งทำให้เราพบเห็นคนลักษณะนี้เพิ่มขึ้น บุคคลใดที่แสดงพฤติกรรม หรือ กิริยาเช่นนี้ออกมาโดยไม่รู้จักปรับปรุง

 

เมื่อปล่อยไว้นานไปนอกจากสัมพันธภาพกับคนใกล้ตัวจะแย่ลงไปเรื่อยๆ แล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด

 

 

ดังนั้น หันมาดูแลรักษาน้ำใจคนใกล้ตัวที่ดีต่อเราให้มากขึ้นกันดีกว่า อย่าปล่อยให้ความสัมพันธ์ดีๆ กับคนกลุ่มนี้ต้องเสียไป อย่าให้เหมือนสำนวน “ใกล้เกลือกินด่าง” ที่เปรียบเปรย ผู้ที่อยู่ใกล้สิ่งที่ดีมีคุณค่า แต่มองไม่เห็นคุณค่านั้นกลับไปหลงชื่นชมกับสิ่งที่ไร้ค่าด้อยราคา มองข้ามของดีที่อยู่ใกล้ตัวไปแบบน่าเสียดาย

kinyupen