ใครเสี่ยง “เลย์ออฟ” ต้องรู้

0
630
kinyupen

ปัจจุบัน ข่าวธุรกิจต่างๆ ทยอยประกาศปิดกิจการ หรือ สั่งพักงาน ลดเงินเดือน เลย์ออฟพนักงานเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศมีให้เห็นกันรายวันและยังคงมีแนวโน้มที่คาดจะลามไปเรื่อย เพราะวิกฤติครั้งนี้กระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงซึ่งดูแล้วยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นในเร็ววัน ทำให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็คงวิตกไปตามกันว่าจะมีโอกาสโดนหางเลขจากวิกฤตินี้หรือไม่ เพราะตอนนี้องค์กรธุรกิจรายใหญ่ ขนาดกลาง จนถึงเอสเอ็มอีแทบทุกรายล้วนต่างอยู่ระหว่างประเมินความเสี่ยงกันแทบจะวันต่อวัน

 

ในวันที่อะไรก็ยังไม่แน่ไม่นอนแบบนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอรวบรวม “หลักการเตรียมความพร้อมที่จำเป็นก่อนถูกเลย์ออฟ” สำหรับผู้มีความเสี่ยงมานำเสนอ ซึ่งหากเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ ก็น่าจะดีเพื่อให้เรามีทางเลือกและรับมือได้ทัน แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงหวังว่าทุกท่านจะก้าวผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกันและขอให้โชคดีจากการเลย์ออฟทุกท่าน

 

  1. สำรองเงินให้พอใช้ 3-6 เดือน

หลักสำคัญคือ พิจารณาจำนวนเงินเก็บที่มีอยู่ว่าเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัว อาทิ ค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ได้กี่เดือน โดยขั้นต่ำสุดควรมีอย่างน้อย 3-6 เดือน เผื่อได้มีเวลาตั้งหลักอาชีพใหม่ หรือ มองหาวิธีสร้างรายได้เสริม

สำหรับผู้ที่มีเงินเก็บเพียงพออยู่ อาจลองตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยบางส่วนแล้วนำไปออมเพิ่มเติม ผ่านบัญชีออมทรัพย์ หรือ บัญชีฝากประจำสำรองไว้เผื่อช่วยได้อีกทางหนึ่ง หรือ อีกช่องทางที่น่าสนใจคือการนำไปลงทุนในบัญชีกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำดูก็เป็นทางเลือกที่ดี ส่วนผู้ที่ยังไม่มีเงินเก็บ หรือ ยังมีน้อยอยู่ อาจต้องเริ่มมองหาวิธีสร้างความมั่นคงทางการเงินส่วนนี้เพิ่มเติมโดยเร็ว เพราะวิกฤตินี้ไม่รู้ว่าจะลากยาวไปถึงเมื่อใด

 

  1. อย่าเพิ่งก่อหนี้ใหม่ในช่วงนี้

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วไม่ควรมีภาระผ่อนหนี้เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เช่น รายได้เดือนละ 20,000 บาท ไม่ควรผ่อนหนี้เกิน 8,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นหากใครมีหนี้อยู่เกือบเต็มอัตราแล้ว ควรประคองตัวไม่สร้างหนี้ใหม่ โดยเฉพาะหนี้เกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ช่วยสร้างรายได้โดยเด็ดขาด ลองมองหามาตรการเยียวยาของสถาบันการเงินต่างๆ ที่ทยอยออกมา เพื่อดูว่าสามารถเข้าไปใช้สิทธิ์ในการผ่อนผันอย่างไรได้บ้าง หากได้เราสิทธิ์ลดหย่อน หรือ ผ่อนผันหนี้ ก็อาจนำเงินส่วนที่เหลือจากการลดหย่อน หรือ ผ่อนผันที่เคยต้องจ่ายทุกเดือน มาเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินตามข้อ 1 ไว้ก่อนก็ได้

 

ล่าสุดธนาคารต่างๆ ประกาศมาตรการเยียวยาลูกหนี้ อ่านต่อ ที่นี่

 

  1. พึ่งตัวช่วยที่มีอยู่

กรณีที่โชคร้ายต้องถูกเลย์ออฟอย่างเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบขึ้นทะเบียนคนว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น และปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน ซึ่งสิทธิต่างๆ ที่พึงได้ประกอบด้วย

 

A “เงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน” จะจ่ายให้กรณีที่ ถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด หรือ ไม่ได้สมัครใจลาออก โดยแต่ละคนจะได้รับในอัตราที่ต่างกันไปตามอายุงาน

 

 

หมายเหตุ กรณีเลิกจ้างนี้ นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน มิเช่นนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้างอีก 1 เดือน เป็น “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” หรือ ที่มักเรียกกันว่า “ค่าตกใจ” 

 

​​B “เงินชดเชยการว่างงานจากประกันสังคม” ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน จะได้รับเงินทดแทนเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในอัตราร้อยละ 50% ของเงินเดือนที่ได้รับปัจจุบัน ส่วนผู้ตกงานที่มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 7,500 บาทเท่ากันทุกราย เพราะประกันสังคมคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท

 

หมายเหตุ กรณีลูกจ้างยินยอมเซ็นใบลาออกเอง ถือเป็นการลาออกโดยสมัครใจจะได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท (หรือ สูงสุด 4,500 บาท) เป็นเวลา 3 เดือน

kinyupen