ถ้าโดนลดเงินเดือน ควรวางแผนการเงินยังไง

0
580
kinyupen

พิษโควิด-19 นำไปสู่ผลกระทบรุนแรงเกินกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการหารายได้ เพื่อจะให้กิจการเดินต่อไปได้ หลายองค์กรไม่มีทางเลือก ก็ต้องเลิกจ้าง หรือ ปรับลดเงินเดือนพนักงานลง แต่ปัญหาของลูกจ้างคือ เงินรายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายยังอยู่เท่าเดิมนั่นละสิ เป็นผลให้เกิดหายนะทางการเงินกับใครหลายคน แม้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมความเดือดร้อนทั้งหมด ในจุดนี้หากพึ่งพาตัวเองได้ก็ต้องทำ

 

จากบทเรียนวิกฤตินี้ ทำให้เริ่มคิดอยากมีเงินออมเผื่ออนาคตข้างหน้าบ้างแล้ว แต่แค่มีเงินให้พอใช้แต่ละวันยังลำบาก แล้วขีดจำกัดเรามีแค่ไหน? แค่ไหนเราถึงออมเงินได้? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอพาคุณวางแผนการใช้เงินใหม่ หนีหายนะทางการเงินให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

 

1.รีบจัดการค่าใช้จ่าย Fix Cost ก่อนใช้

ทันทีที่ได้เงินเดือน ให้หักลบค่าใช้จ่าย Fix Cost  เช่น ค่าเช่า ค่ารายเดือนต่างๆ เงินผ่อน เงินที่ต้องส่งไปที่บ้าน เป็นต้น เพราะรายจ่ายดังกล่าวเราไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นเมื่อหักภาระดังกล่าวไปแล้ว จึงหักเงินออมเก็บไว้ก่อน แล้วใช้จ่ายตามงบประมาณที่มี

(รายได้ – Fix Cost) – เงินออม = รายจ่ายคงเหลือในเดือนนั้น

ข้อดีของวิธีนี้คือทำให้เราต้องจดบันทึกไว้เป็นนิสัย และเมื่อเห็นตัวเลขชัดๆ แล้ว เราจึงรู้ขีดจำกัดของตัวเอง หากมีรายจ่ายมหาศาลก็ไม่ต้องฝืนออมเงินมากจนเกินไป ถ้าบวกลบแล้วเหลือค่ากินใช้น้อยมากๆ ไม่พอกินแน่ๆ ค่อยจัดสรรส่วนของรายจ่าย และเงินออมได้ตามความเหมาะสม

 

2.ลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่เราควบคุมได้

ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน มันไม่ได้จบแค่มีใช้พอดีไปวันๆ เกิดมีค่ายา ค่ารักษา ค่าซ่อมอีก เงินออมอาจจะไม่พอ!

เมื่อเราแบ่งส่วนในข้อ 1 ชัดเจนแล้ว ในส่วนสุดท้ายที่เป็นรายจ่ายนั้นเราสามารถคุมมันได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งวิธีลดค่าใช้จ่ายมีมากมาย ไม่ว่าจะทำอาหารกินเอง ใช้บริการรถสาธารณะ ลดซื้อของไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งการประหยัดไฟ

 

3.มองหาสิทธิพิเศษต่างๆ

ไม่ใช่แค่มาตรการจากรัฐบาลเท่านั้น ควรหาช่องทางลดภาระค่าใช้จ่ายเท่าที่ทำได้ วิธีนี้ใช้ได้ทั้งเรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ซื้ออาหารราคาป้ายเหลืองช่วงเย็น ใช้แต้มเก่าเก็บที่สะสมไว้แทนเงินสด ไปจนถึงซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี แต่ควรใช้วิธีนี้อย่างมีสติ มิเช่นนั้นจะติดบ่วงการตลาดกันหมด

 

4.หารายได้เสริม

นอกจากงานทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะโล๊ะของที่ไม่ใช้แล้วไปขาย หรือขายของออนไลน์ ก็ทำเงินได้ทั้งนั้น บางคนถือโอกาสทองช่วงกักตัวเปิดร้านขายอาหารในหมู่บ้านขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อาจเริ่มจากทีละน้อยก่อน เช่น ลูกชิ้น หมูปิ้ง ทั้งนี้ต้องดูการตลาดให้เป็น

 

5.เจรจาต่อรองหนี้ (ถ้าคุณมีหนี้สิน)

พิษโควิด-19 ก่อความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ธนาคารและเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มีมาตรการเยียวยาลูกหนี้ไว้แล้ว ลองหาข้อมูล เงื่อนไข หรือสอบถามกับเจ้าหนี้เพื่อแบ่งเบาดอกเบี้ย หรือพักการชำระหนี้ไปก่อนตามข้อตกลงที่รับได้ทั้งสองฝ่าย

 

วิกฤติในครั้งนี้สร้างบทเรียนมากมายให้กับใครหลายๆ คน ในวันที่ทุกคนเดือดร้อนกันหมด คนที่ใช้ชีวิตปกติได้อยู่ก็คือคนที่เตรียมพร้อมมาตลอด ดังนั้นเราควรตระหนักในอนาคตที่ไม่แน่นอนอยู่เสมอ ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินทอง มองหาแนวทางฟื้นตัว และป้องกันหายนะทางการเงินไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินและเป็นเกราะป้องกันตัวเองในอนาคต

kinyupen