หมดไฟ เบื่องาน สร้างภูมิต้านทานอย่างไร

0
695
kinyupen

มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจเคยประสบภาวะหมดไฟในการทำงานกัน เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างในชีวิต แล้วเราจะรับมือ หรือ ปรับทัศนคติเพื่อสร้างภูมิต้านทานในเรื่องนี้อย่างไร กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต รวบรวมมาฝากกัน

อีกหนึ่งเรื่องราวใกล้ตัวสำหรับชาวมนุษย์เงินเดือนที่จะมีช่วงหนึ่งที่ทำให้พลังไฟในการทำงานของตัวเรามอดลง ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เงินเดือน ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย งานล้นมือ เบื่องานซ้ำๆ เดิมๆ งานไม่เหมาะกับตนเอง ขาดสมดุลการใช้ชีวิต ฯลฯ ขมวดเป็นปมที่ทำให้เราไม่มีความสุข ขาดแรงจูงใจ เรียกว่า หมดไฟ หรือ หมด Passion ในการทำงาน

การหมดไฟในการทำงาน หรือ Burn out แม้บางครั้งเกิดชั่วขณะ แต่อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสภาพร่างกาย จิตใจ เพราะการใช้ชีวิตแบบเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลให้รู้สึกกดดัน เหนื่อย ท้อ รู้สึกล้มเหลว ขาดประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งอาจเป็นเหตุสะสมที่นำเข้าสู่สภาวะโรคซึมเศร้าได้ เเล้วจะรับมือ หรือ หาวิธีสร้างภูมิต้านทานกับเรื่องนี้อย่างไรดี วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำหลากมุมมองน่าสนใจมานำเสนอกัน

  1. ตั้งสติตีโจทย์ให้แตก ติดกระดุมเม็ดแรกให้ตรงจุด เริ่มจากตั้งสติหาเหตุที่ทำให้หมดไฟ ให้เจอก่อนว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร อาทิ ภาระงานบีบรัดเข้มงวด ระบบบริหารจัดการที่ไม่ตรงใจ ผลลัพธ์ สิ่งที่หวังไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานเลยก็ได้ เช่น ผิดหวังเรื่องความรัก ภาระหนี้สิน ฯลฯ ที่ทับถมสะสมเป็นความเครียดจนผูกเป็นปมรวมกัน ดังนั้นข้อนี้ถือว่าจำเป็นมาก เพราะถ้าหาเหตุที่แท้จริงไม่เจอก็จะแก้ผิดจุด เหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดอื่นก็ผิดตามไปด้วย
  2. ทบทวนอีกครั้ง แค่อารมณ์ชั่ววูบ หรือ เกินเยียวยา เมื่อเจอต้นเหตุแล้ว ลองนำมาประมวลอีกครั้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สามารถแก้ไข หรือ มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม โดยอาจเริ่มจากการหาวิธีง่ายๆ เช่น ลาพักผ่อนระยะสั้น เพื่อท่องเที่ยว หรือ ย้ายตัวเองออกจากชีวิตประจำวันแบบเดิมที่ต้องเผชิญทุกวัน จะได้มีเวลาสังเกตตัวเอง หรือ ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนอีกครั้งว่าเหมาะกับงานหรือองค์กรที่ทำอยู่หรือไม่ รวมถึงประเมินตนเองว่ามีความถนัดด้านใด เพื่อนำคำตอบที่ได้มาประเมินว่าควรทำอย่างไรต่อไป ซึ่งถ้าเกิดเพราะอารมณ์ชั่ววูบก็อาจจะง่ายหน่อย แต่ถ้าไตร่ตรองครบทุกด้านแล้วยังไม่ดีขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจถึงเวลาที่จะต้องเริ่มมองหาการเดินทางครั้งใหม่ในทำงาน เพื่ออนาคต
  3. ที่ปรึกษาก็มีส่วนสำคัญ อาจลองปรึกษาหัวหน้างานเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น หาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน หรือ อาจหาที่ปรึกษา เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือ คนรัก เพื่อช่วยร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ฟื้นคืนกำลังใจกลับมา
  4. หางานอดิเรก พักเบรกสักนิด ในวันหยุดลองหากิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ความคิดอย่างหนัก ลองเปลี่ยนมานั่งสมาธิ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ไปเดินเล่น หรือไปเยี่ยมเพื่อนและญาติ กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกสบายใจมากขึ้น หรือ แม้กระทั่งระหว่างวันทำงาน อาจหาเวลาพักเบรกให้ชีวิตสัก 10 – 15 นาที โดยนำสิ่งที่ชอบติดตัวมา อาทิ หยิบหนังสือ หรือ เพลงที่ชอบมาเปิดอ่าน เปิดฟัง หรือในยุคดิจิทัลนี้ อาจนำเกมฮิตต่างๆ ที่หลายท่านโหลดติดไว้ มาเล่นแก้เครียด อาจช่วยในการปรับภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้นได้
  1. สุขภาพต้องแคร์ ดูแลอย่าละเลย เพราะสุขภาพสำคัญที่สุด ฉะนั้นเมื่อทำงานหนัก มีภาระมากขึ้น อาจทำให้ไม่มีเวลารับประทานอาหาร ขาดการออกกำลังกาย นอนน้อย ส่งผลให้สภาพร่างกายเสื่อมโทรมลง ทำให้หมดไฟเร็วขึ้น การดูแลสุขภาพจึงอาจช่วยให้รับมือกับปัญหาหมดไฟได้ สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการออกกำลังกายประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ จะช่วยเสริมสุขภาพทำให้ชีวิตดีขึ้น และช่วยให้สมองได้พักจากการคิดเรื่องงานไปสนใจสิ่งอื่นแทน

ลองนำไปปรับ หรือ หาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง เพื่อสร้างภูมิต้านทาน หรือ กระตุ้น ให้ไฟในการทำงานของคุณกลับมาลุกโชนอีกครั้ง

ทีมงาน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต หวังว่าข้อมูลที่นำมาเสนอนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านได้ไม่มากก็น้อย และเราขอเป็นกำลังใจให้ท่านเสมอ

kinyupen