ทราบหรือไม่ว่า จีน อินเดีย เขมร ลาว พม่า ก็ลอยกระทง…

0
887
kinyupen

แม้แต่ละแห่งจะมีที่มา เรื่องเล่าบนความเชื่อที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ พิธีกรรมของทุกแห่งล้วนเกิดจากความสำนึกในบุญคุณธรรมชาติ หรือ ผู้มีพระคุณเป็นตัวกำหนด ส่วนน่าสนใจอย่างไรนั้น กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอรวบรวมมาเสนอกัน

 

 

ไทย = พิธีจองเปรียง หรือ ลอยพระประทีป

ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ถือเป็นหนึ่งประเพณีไทยที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียง หรือ การลอยพระประทีป”  มีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่า เป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทง

 

อินเดีย = เทศกาลทีปาวลี

เริ่มในช่วงปลายฝนต้นฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพื่อเฉลิมฉลองการนิวัติกลับอโยธยาของพระรามและนางสีดา อีกคติหนึ่งเพื่อบูชาพระลักษมี เทวีแห่งความร่ำรวย สมบูรณ์ และโชคลาภ ด้วยการจุดประทีปใส่ถ้วยเล็ก ๆ วางตามบ้าน หรือปล่อยให้ลอยตามแม่น้ำ

 

จีน = ลอยประทีปเพื่ออุทิศส่วนกุศล

ประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่าฮั่น มองโกล ไป๋ และหมิง ในช่วงสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เนื่องจากยุคนั้น ชาวมณฑลจี๋หลิน ต้องมีการขนส่งอาหารให้ทหารลาดตระเวนชายแดน ด้วยเส้นทางเดินเรือ ซึ่งเป็นงานหนักและเสี่ยงภัย ทำให้มีผู้เสียมากมายนับไม่ถ้วน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ชาวจี๋หลินจึงลอยประทีป หรือ กระทงลักษณะเป็นรูปดอกบัว หรือ โคมไฟ ที่ข้างในมีเทียนจุดไฟไว้ ตามแม่น้ำ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต

ข้อสังเกตอีกประการ การลอยกระทงในประเทศจีน สามารถลอยได้ในทุกเทศกาล แต่ละพื้นที่มีความหมายแตกต่างกันออกไป เช่น เขตเจียงหนาน ขอพรให้โรคภัยไข้เจ็บ หายไปกับสายน้ำ เขตชายฝั่งทะเลขอพรให้เทพเจ้าช่วยปกป้องคุ้มครองภัย

 

ลาว = งานไหลเฮือไฟ

ประเพณีลอยกระทง หรือ งานไหลเฮือไฟ ของ สปป.ลาว จะมีการแข่งเรือที่ริมแม่น้ำโขง บูชาแม่น้ำด้วยการลอยประทีป เพื่อขอบคุณแม่น้ำโขงที่เลี้ยงดูมา

 

กัมพูชา = เทศกาลน้ำ

จัดขึ้นเพื่อระลึกบุญคุณ ขอบคุณแม่น้ำโขงที่เป็นสายน้ำหลักในการหล่อเลี้ยงชีวิต

 

พม่า = บูชาและขอบคุณพญานาค

กระทงของชาวพม่า มีลักษณะตกแต่งคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน เพื่อบูชาและขอบคุณพญานาค ตามความเชื่อที่ว่าได้ช่วยปราบพญามารไม่ให้เข้ามาทำลายพระเจดีย์จากคำขอร้องของพระอุปคุต

 

“ข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า พิธีกรรมแต่ละแห่ง ล้วนเกิดจากความสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ – ผู้มีพระคุณเป็นตัวกำหนดแทบทั้งสิ้น นำสู่การขอขมาเพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณที่ได้พึ่งพาอาศัย ตลอดจนการขอความอำนวยพร ถ่ายทอดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน”

 

อย่างไรก็ตามด้วยสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การขอขมาแหล่งน้ำผ่านการลอยกระทงกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ซ้ำเติมธรรมชาติ เพราะสร้างขยะและสิ่งปฏิกูลมหาศาลลงแหล่งน้ำภายในช่วงข้ามคืน

 

อย่างไรก็ตาม 7 ปีที่ผ่านมาปริมาณขยะกระทงที่เก็บขึ้นมาจากแหล่งน้ำเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่ามีปริมาณขยะกระทงทั้งแบบธรรมชาติ หรือแบบสังเคราะห์เป็นจำนวนมากกว่าหลายแสนใบ ซึ่งในอนาคตได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะที่เกิดจากการลอยกระทงให้ได้มากที่สุด

 

ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ หากเราหันมาใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ใบตอง หยวกกล้วย มันสำปะหลัง ขนมปัง หรือ น้ำแข็ง มาทำกระทง หรือ ใช้วิธีรวมใจกระทง 1 ใบ ลอยพร้อมกันหลายคน เพื่อลดผลกระทบต่อแหล่งน้ำให้มากที่สุด

นอกจากการลอยกระทงแล้ว การไม่ทิ้งขยะ เศษอาหาร สิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ รวมถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ก็เป็นอีกทางเลือกน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการขอขมาแหล่งน้ำ ซึ่งนี่อาจเป็นวิธีแสดงความเคารพ และสำนึกในบุญคุณของแหล่งน้ำที่ง่าย แต่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดกับยุคปัจจุบันก็เป็นได้

kinyupen